ซีไอเอ็มบี ไทยกำไรพุ่ง Q1ปี59
กว่า150% มูลค่า327.3 ล้านบาท
ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2559 จำนวน 327.3 ล้านบาท เติบโต 150.6% จากปี 2558 ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตดีขึ้ น476.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.9 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานและสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ลดลง มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจาก 3.1% เมื่อสิ้นปี 2558 จากการคุมเข้มความเสี่ยงการให้สินเชื่อ การปรับปรุงแนวทางเรียกเก็บหนี้และการแก้ปัญหา NPL อย่างต่อเนื่อง
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559 มีกำไรสุทธิจำนวน 327.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 196.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 150.6 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 1.5 สุทธิกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงร้อยละ 18.3 และรายได้อื่นลดลง ร้อยละ 7.8 นอกจากนี้สำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2559 และ 2558 รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 351.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 เป็นจำนวน 3,314.6 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 476.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.9 เป็นผลจากการขยายสินเชื่อและการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 74.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.3 ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรและตราสารหนี้ และค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และรายได้อื่นลดลง 50.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมบริหารเงิน สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2559 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 ลดลงจำนวน 26.6 ล้านบาทหรือร้อยละ 1.5 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือน ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 53.0 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 60.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้น ของรายได้และการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.72 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 2.95 เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุน เงินฝากที่ดีขึ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2559 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 200.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 205.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.7 จากสิ้นปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 218.4 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อ เงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97.4 จากร้อยละ 91.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการประเมินความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการ ความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 115.0 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 106.5 ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 7.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.3 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2559 มีจำนวน 34.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 15.0 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.8