ยันฮีขยายบริการเจาะตลาดใหม่
ทุ่ม20ล้าน ‘ศูนย์แพทย์แผนจีน’
“แพทย์แผนจีน” บูม รพ.ยันฮี ประกาศเจาะตลาดลูกค้านิยมรักษาด้วยแพทย์ทางร่วม ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯ ใหม่ รักษาโรคได้ครบวงจรด้วยการรักษาแบบแพทย์แผนจีนเต็มรูปแบบ ครอบคลุมฝังเข็ม ครอบแก้ว กวาซา ปล่อยเลือด เมล็ดผักกาดแปะหู อบความร้อนด้วยโคม ประคบด้วยยาสมุนไพร รมยา ทุยหนา การแมะ ยาสมุนไพรจีนและปรุงยารักษาเฉพาะบุคคล ตั้งเป้าปี 59 ดึงลูกค้ามาใช้บริการ 10 % จากลูกค้าที่มารับบริการในโรงพยาบาลทั้งหมด สร้างรายได้ที่ 10% ของรายได้รวม
พจ.ศุภชัย ชุณหสวัสดิกุล แพทย์จีนประจำโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลยันฮี ได้มีแผนการขยายศูนย์การแพทย์แผนจีน ซึ่งมองว่า เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ปัจจุบันพบว่า ความนิยมได้แพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกหรือWHO ได้ให้การยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้มั่นใจได้ว่า ศูนย์แพทย์แผนจีนมีช่องว่างการตลาดโอกาสการเติบโตสูง
สำหรับการจัดตั้งศูนย์แพทย์แผนจีนนั้น ใช้งบประมาณรวมกว่า 20 ล้านบาท ครอบคลุมเรื่องการ ปรับปรุงพื้นที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคอีกกว่า 100 รายการ ซึ่งแพทย์จีนสามารถปรุงยาและจ่ายยาให้ลูกค้าแต่ละคนได้ตรงกับโรคที่เป็น ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจสูงสุด
โรคที่ให้การรักษานั้น พจ.ศุภชัย กล่าวว่า แพทย์แผนจีนสามารถรักษาได้ทุกโรคเช่นเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะการรักษาแบบแพทย์แผนจีนจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับร่างกาย จนทำให้ร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาการผิดปกติที่ระบบใด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบการสืบพันธุ์ของสตรี อาทิ ปวดประจำเดือน รอบเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก อาการวัยทอง โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ ไมเกรน ภูมิแพ้ โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดตีบ อ่อนเพลียเรื้อรัง ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคหรืออาการต่างๆ ก่อนที่แพทย์จะทำการรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีนก่อน
พจ.ศุภชัย กล่าวถึง การรักษาโรคตามศาสตร์แพทย์แผนจีน มีด้วยกันหลายวิธี โดยเน้นการรักษาตามโรคและอาการของคนไข้แต่ละคนเช่น 1. การฝังเข็ม แพทย์จะใช้เข็มฝังไปที่จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณ เพื่อทำให้อาการผิดปกติหรือโรคที่เป็นดีขึ้น 2.การครอบแก้ว แพทย์จะครอบแก้วไปตรงตำแหน่งรอยโรค เช่น บริเวณหลัง ซึ่งความร้อนภายในแก้วจะทำให้รูขุมขนในบริเวณดังกล่าวเปิดออก และเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนกับความชื้นและความเย็นภายในผิว ส่งผลให้เลือดลมภายในไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น 3. การรมยาโดยอาศัยความร้อนเผาที่ตัวยาสมุนไพร ส่งผ่านความร้อนเข้าสู่ชั้นผิวหนัง เกิดการไหลเวียนของเลือด ขับความชื้นและความเย็นในร่างกาย ลดอาการบวม ลดอาการปวดประจำเดือน ปรับสมดุลร่างกาย
4.การทุยหนา เป็นการรักษาโดยการใช้ท่านวดลักษณะต่างๆ นวดลงบนจุดลมปราณ หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อการป้องกันโรค ปรับสมดุลของอวัยวะต่างๆส่งเสริมสุขภาพ 5.กดจุดที่หู การรักษาสามารถทำได้โดยแปะเม็ดยาที่หู หรือแปะเม็ดแม่เหล็กที่หู แทนการฝังเข็มที่หู 6. การใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งแพทย์สามารถปรุงยาได้เองด้วยเครื่องต้มยาที่ทันสมัย
“เราตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ ประมาณ 10 % จากรายได้รวมของ รพ. โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นคนไข้เดิมที่เคยมาใช้บริการ มีการบอกต่อ และคนไข้ใหม่ที่ต้องการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะมีอัตราการเติบโต เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10 % ต่อปี” นพ.ศุภชัยกล่าว