แพทย์ศิริราชหนุนดูแลเป็นเลิศ
ช่วยผู้ป่วยธาลัสซีเมียใช้ชีวิตปกติ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ชมรมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย จัดงานชมรมฯ ครั้งที่ 27 และวันธาลัสซีเมียโลกครั้งที่ 15 เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป รวมถึงพัฒนาการเข้าถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียอย่างเป็นระบบ ชี้ไทยมีทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ราว 1.2 หมื่นคนต่อปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้นราว 7 แสนคน แต่เมื่อรวมประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในไทยแล้วรวมผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ขณะนี้ไทยวิจัยพัฒนาเทคโนฯ “ยีนบำบัด” ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในเอเชีย
รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต แพทย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ(TIF) เปิดเผยว่า งานพบปะของชมรมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยครั้งที่ 27 จัดขึ้นทุกปี โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานเพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้กับผู้ป่วย ผู้ปกครองและประชาชนที่สนใจได้รับทราบ โดยมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานในปีพ.ศ. 2559นี้ คาดหวังว่า หลังจากการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนและสาธารณชนจะมีความรู้ความเข้าใจในโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมากขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคโลหิตจากธาลัสซีเมีย หวังว่า จะได้รับแรงบันดาลใจให้ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ดีขึ้นและเป็นกำลังของประเทศไทย
สำหรับโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางพันธุกรรม ซึ่งทำให้มีการสร้าง “ฮีโมโกลบิน” อันเป็นสารสีแดงส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงได้น้อยกว่าปกติ ทำให้มีภาวะซีด หรือสร้างฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ เป็นผลให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะผิดปกติและอายุสั้น
โรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย คือ ทั้งบิดาและมารดาของผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีธาลัสซีเมียแฝง หรือเรียกว่า เป็นพาหะของธาลัสซีเมียหรือเป็นโรคธาลัสซีเมีย โดยพบในประชากรไทยประมาณ 30-40% ซึ่งยังมีสุขภาพปกติ ไม่มีอาการ จึงทำให้ไม่ทราบว่า ตนเองเป็นพาหะ หากบังเอิญบุคคลเหล่านี้แต่งงานกันจะสามารถถ่ายทอดโรคโลหิตจางไปสู่ลูกได้ เช่น ผู้เป็นพาหะโรคชนิดเบต้า-ธาลัสซีเมียแต่งงานกัน มีโอกาสที่บุตรจะเป็นโรคเบต้า-ธาลัสซีเมียเมเจอร์ 25% ซึ่งเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง มีอาการค่อนข้างรุนแรงและมีปัญหาโลหิตจางมาก เป็นต้น ซึ่งโรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดไม่พึ่งพาเลือด เนื่องจากมีอาการไม่รุนแรง และ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแบบพึ่งพาเลือด เป็นชนิดที่พบมากในพื้นที่ภาคใต้ มักเสียชีวิตในช่วง 10 ปีแรกของชีวิต
รศ.ดร.นพ.วิปรกล่าวต่อว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียถือว่า เป็นโรคที่มีความชุกมากเป็นอันดับ 1 ของไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในไทยมีทารกเกิดใหม่ที่เป็นโรคนี้ประมาณ 12,000 คนต่อปี ผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 700,000 คน เมื่อรวมกับประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทยแล้วรวมจำนวนผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คน ดังนั้นถ้าไม่มีการควบคุมป้องกันโรคก็จะทำให้มีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดีประเทศไทยถือว่าอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาคในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยรศ.ดร.นพ.วิปรเปิดเผยระหว่างบรรยายหัวข้อ “การดูแลธาลัสซีเมียที่ดีเลิศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยม” ว่า การดูแลรักษาที่ดีเลิศ คือ ต้องมีการประเมินประเภทของโรคก่อนว่า เป็นชนิดใด เพราะแต่ละชนิดมีความรุนแรงต่างกันถ้าเปอร์เซนต์เม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 20% ถือว่ารุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องตรวจดูว่า ผู้ป่วยมีภาวะม้ามโตหรือไม่ รวมถึงดูการเจริญเติบโตของร่างกายว่าเป็นปกติหรือไม่ ใบหน้า รวมส่วนสูงและน้ำหนัก หลังจากนั้นจึงให้การรักษาที่ดีเลิศ คือ การเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมตามความรุนแรงของโรค
“เรามีการรักษาผู้ป่วยในทุกแบบ ทุกแนวทาง กรณีธาลัสซีเมียประเภทพึ่งพาเลือด การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งรพ.ศิริราชให้การรักษาเป็นที่แรกและทำมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอและอย่างเพียงพอ ไม่ใช่พอเพียง รวมถึงการให้ยาขับธาตุเหล็ก ควบคุมภาวะเหล็กเกิน ที่เป็นผลข้างเคียงจากการให้เลือด ถ้าไม่มีการขับเหล็กออกจะทำให้ผู้ป่วยอายุสั้น เนื่องจากธาตุเหล็กจะไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ ที่ต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่โต ที่หัวใจและตับ ทำให้มีภาวะหัวใจวายและตับวาย ถ้าไปสะสมที่ตับอ่อนจะทำให้เป็นโรคเบาหวาน หากไปสะสมที่อวัยวะสืบพันธุ์จะทำให้เป็นหมัน รังไข่ฝ่อเข้าสู่ภาวะวัยทองเร็ว เป็นต้น
ส่วนประเภทที่ไม่พึ่งพาการให้เลือด แพทย์จะให้การรักษาดูแลแบบประคับประคอง ให้ยาบำรุง การดูแลเรื่องเม็ดเลือดแดงแตก การให้วิตามิน ยากระตุ้นฮีโมโกลบินและยาต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ “ยีนบำบัด” ที่มีการริเริ่มที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย”
รศ.ดร.นพ.วิปรเปิดเผยอีกว่า ในปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชดูแลรักษาผู้ป่วยประมาณ 5,000 คน ในวัยตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 40-50 ปี ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ได้รับการรักษาตั้งแต่อยู่ในครรภ์และยังรอดชีวิตอยู่มี 6 คน ผู้ป่วยจะสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ แต่มีโอกาสหายไม่ถึง 5% ของทั้งหมด แต่อีก 95% ยังมีโรคอยู่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตราว 10%
ส่วนเทคโนโลยี “ยีนบำบัด” ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนายังไม่ได้นำมาใช้จริง โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ 4-5 คนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท ส่วนในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ มีค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งการศึกษาวิจัยพัฒนาทางด้านยีนบำบัดเวลานี้มีที่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับการรักษาปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมีที่รพ.ศิริราช,รพ.รามาธิบดี,รพ.พระมงกุฎเกล้าและรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นอกจากนี้ทางศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช ยังเป็นที่แรกที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกินโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า (MRI T2) สามารถแสดงผลการวิเคราะห์ที่ชัดเจน แม่นยำ โดยทำควบคู่ไปกับการเจาะเลือด การพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว ช่วยให้ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และลดค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ ตลอดจนนำไปสู่การจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในการใช้ยาขับเหล็ก ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศนำไปพัฒนาการใช้ยาขับเหล็กที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการพัฒนาโปรแกรมประเมินธาตุเหล็กเป็นที่แรกในภูมิภาค ปัจจุบันมีใช้ที่รพ.เด็ก,รพ.รามาฯ,รพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,รพ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น,รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวรและรพ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)