แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ล้ำค่า
สะแกราช…ห้องเรียนธรรมชาติ
แม้ภาครัฐจะรณรงค์ปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง แต่เรามักพบเห็นตามข่าวสารบนสื่อต่าง ๆอยู่เสมอกับสภาพภูเขาหัวล้าน.. การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำพื้นที่ทำกินหรือสร้างรีสอร์ท ของเหล่านายทุนหรือการเผาป่า อย่างไรก็ดี “สะแกราช โมเดล” หรือ “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” จ.นครราชสีมา คือตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการรักษาผืนป่าเอาไว้ได้ ช่วยให้มีแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงอนุรักษ์สำหรับน้อง ๆ เยาวชน เหล่านักวิจัย นักวิชาการและประชาชนทั่วไป
“สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” ห้องเรียนศึกษาธรรมชาติ- พักผ่อน
“สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” หากใครที่มีโอกาสมาเยือนสถานีวิจัยฯแห่งนี้ จะสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงนับแต่ย่างก้าวแรกที่เข้ามา จากความร่มรื่นของร่มเงาไม้จากป่าปฐมภูมิเรือนยอดชิดกันจนง่ายต่อการปีนป่ายของสัตว์ที่ใช้ชีวิตบนต้นไม้ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่นอย่างเต็มปอด ได้เห็นดอกไม้ป่า พืชพรรณแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ควบคู่ไปกับเสียงนกและสัตว์อื่น ๆส่งทักทายคนแปลกหน้า ด้วยผืนป่าแห่งนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ พืชหลายชนิด รวมถึงพืชสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ของโลก
ผู้โชคดีกว่าใคร ๆและมีโอกาสมาเยือนห้องเรียนธรรมชาติแห่งนี้ เห็นจะได้แก่ เหล่าน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาและนักวิจัย เพราะ “สถานีฯสะแกราช” นอกจากเป็นสถานที่เพื่อการวิจัย ทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน ศึกษาธรรมชาติของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิดแล้ว ยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาด้วย ซึ่งแต่ละปีมีนักเรียนมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง 135 ค่ายหรือประมาณ 15,000 คนต่อปี
เรียกว่า ต้องใช้เวลาจองกันยาวนานเกือบ 2 ปีทีเดียว เด็ก ๆ มาแล้วได้เรียนรู้พร้อมกับได้รับการปลูกฝังให้รักป่า รักธรรมชาติไปด้วยในตัว โดยมีการจัดเป็นค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับ 1 วัน(ไป-กลับ) ,สำหรับ 2 วัน 1 คืน แบบมาถึงเช้าและบ่าย,และแบบ 3 วัน 2 คืนและมีค่าใช้จ่ายไม่แพง
นอกจากนี้หน่วยงานใด ส่วนราชการไหนที่ประสงค์มาจัดงานสัมมนาก็สามารถมาใช้สถานที่กันได้ เพราะสถานีฯยังมีบทบาทเป็นศูนย์การประชุมและสัมมนา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งที่พัก สถานที่ประชุมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมสำหรับท่องเที่ยว 1 วันและแบบ 2 วันอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การันตีด้วยรางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ตั้งมานานเกือบ 50 ปี มุ่งวิจัย-สงวนทรัพยากรพืช-สัตว์
สถานีฯแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2510 จากการที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม โดยให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ซึ่งในขณะนั้นคือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย(สวป.) ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้เพื่อทำงานวิจัยในลักษณะพหุศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อน (ป่าดงดิบ) สถานีวิจัยฯมีพื้นที่ต้องดูแลเป็นเนื้อที่ประมาณ 78 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,750 ไร่ ในเขตต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย ต.วังน้ำเขียวและต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 300 กิโลเมตร
สภาพผืนป่าส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 720-770 เมตร เป็นป่าผสมผสานระหว่างป่าไม้ 2 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ป่าดิบแล้งค่อนข้างเป็นป่าทึบ ความหนาแน่นประมาณ 123 ต้นต่อไร่ พันธุ์ไม้สำคัญของป่าดิบแล้งเช่น ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง และกระเบากลัก เป็นต้น ส่วนป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่ง ความหนาแน่นราว 84 ต้นต่อไร่ ประกอบด้วย ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นพลวง ต้นเหียงและต้นพะยอม เป็นต้น โดยป่าทั้ง 2 ชนิดนี้ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 70% ของพื้นที่สถานีวิจัยฯ นอกเหนือจากนั้นเป็นป่าชนิดอื่น ๆ เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูกและทุ่งหญ้า
ผืนป่าในขอบเขตของสถานีฯนับว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงยิ่ง โดยจากผลงานการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของสถานีวิจัยฯที่มีอยู่มากกว่า 500 เรื่องในปัจจุบัน ทำให้ในปี 2519 สถานีฯได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมยูเนสโก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” (UNESCO Biosphere Reserves) ซึ่งหมายถึง พื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ แห่งแรกของไทย ภายใต้โครงการ Man and the Biosphere (MAB) ก่อนจะมีอีก 3 แห่งตามมา ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-ห้วยคอกม้า จังหวัดเชียงใหม่, พื้นที่สงวนชีวมณฑลสวนสัก-ห้วยทาก จังหวัดลำปางและพื้นที่สงวนชีวมณฑล ป่าชายเลนจังหวัดระนองและเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชีย
ที่ผ่านมามีการค้นพบสัตว์พืชหายากจำนวนมากหรือรวมอย่างน้อย 490 ชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก โดยเฉพาะที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ไปเยือนทั่วไป ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าและนกชนิดต่างๆ ที่จะออกมาเดินทางหาอาหาร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน เฉพาะในปี 2558 ที่ผ่านมามีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่สถานีอีกมากถึง 41 ชนิด
รวมถึง กบปากใหญ่โคราช, ยีสต์ชนิดใหม่, เชื้อราบนผลไม้, เชื้อราจากดิน, อะซิติดแอซิดแบคทีเรียม, เพลี้ยอ่อน, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตนทีเนีย,ตั๊กแตนบิโลบัส, ตั๊กแตนปักธงชัย, ตั๊กแตนมัลติเดนติคูลาตัส, ตั๊กแตนสะแกราช, มวนmoteus, มวนพิอุส pius, มวนสยามเอนซิส siamensis, มวนเครเนียน kranion,
มวน lancialium, มวน alastini, มวน barbiger, มวนgigiraffoides, มวน maculatus, มวน pleiku, มวน portentosus, มวนเสาวพฤกษ์, มวนดาวตก, มวน suparallelus,มวน castaneus, มวนสะแกราช, มวนภูวษา, มวนสีดำขนาดเล็ก, มวน schuianus, งูดินโคราช, ตุ๊กแกบินลายสามแถบ, ตุ๊กแกป่าดงพญาเย็น, ตั๊กแตนเขาสูง, ตั๊กแตน tinae, แมงช้างนภีตะภัฎ, ไรนภีตะภัฎ, ชิงช้าสะแกราช, ราชนิดใหม่ของโลกบนซากผลยางปาย และจิ้งเหลนปักธงชัย ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นสกุลใหม่ของโลก เวลานี้ยังมีนักวิจัยและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาอีกมากกว่า 30 โครงการ
ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความสำเร็จในการจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืน
การค้นพบพืชพรรณและสัตว์หายากต่าง ๆ สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความหลากหลายทางชีวภาพภายในสถานีฯสะแกราช ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการดูแลรักษาผืนป่าที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้นั่นเอง
โดยมีหัวหอกสำคัญได้แก่ ดร.ทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งได้บอกเล่าถึงความสำเร็จในการบริหารผืนป่าภายในสถานีอย่างภาคภูมิใจว่า เป็นผลจากหลายปัจจัย ดังนี้คือ
1.การโซนนิ่งพื้นที่ออกมาให้ชัดเจน ซึ่งเดิมในการก่อตั้งสถานีฯปี 2510 มีพื้นที่ครอบคลุมเพียง 80 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 50,000 ไร่ ในพื้นที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและยังคงมีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร หาของป่าและล่าสัตว์ แต่หลังจากได้รับการับรองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ได้มีการขยายแนวเขตออกไปอีกราว 1,082,295.86 ไร่ ครอบคลุมถึงอุทยานทับลานและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ทำให้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพิ่มด้วยเพื่อให้สามารถรักษาผืนป่าเอาไว้ให้ได้ ซึ่งได้มีการจัดการพื้นที่เป็น 3 เขต ได้แก่
1.1 เขตแกนกลาง (Core Areas) ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จะไม่มีการทำกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่นี้ ยกเว้น การวิจัย มีการติดตามตรวจสอบ หากจำเป็นอาจอนุญาตให้มีการใช้ทรัพยากรชีวภาพได้ตามที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ พื้นที่ส่วนนี้เปรียบได้กับห้องเรียนธรรมชาติ เป็นธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพให้นักวิจัย นักศึกษา นักเรียนและบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเขตแกนกลางนี้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงมีพื้นที่ 59.05 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,905 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.41 ของพื้นที่
1.2 เขตกันชน (Buffer Area) เป็นพื้นที่ล้อมรอบหรือติดกับพื้นที่แกนกลางและช่วยคุ้มครองพื้นที่แกนกลางให้เป็นที่ผ่อนปรน มีกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลาง สามารถใช้ดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อระบบนิเวศได้ เช่น การศึกษาวิจัย การฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งด้านนิเวศวิทยา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น เขตนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนของพื้นที่ปลูกป่าทดแทนตามธรรมชาติที่ถูกบุกรุกในอดีต มีพื้นที่ 112.87 ตารางกิโลเมตร หรือราว 70,543.60 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.52 ของพื้นที่
1.3 เขตรอบนอก (Transition Area) เป็นพื้นที่ที่มีการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมได้มากที่สุด เช่น กิจกรรมด้านการเกษตร ให้ชุมชนตั้งถิ่นฐาน ใช้พื้นที่ทำกินได้ เป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมประเพณีและวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศในพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยเขตนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่ป่าอื่น ๆ มีพื้นที่ใช้ประโยชน์รวม 1,559.76 ตารางกิโลเมตร หรือ 974,847.26 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุม 11 ตำบล 166 หมู่บ้านวังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
2.การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยในช่วงระหว่างปี 2525-2525 ได้จัดทำกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า มากกว่า 100 ครอบครัว โดยสำนักปฏิรูปที่ดิน(สปก.) วังน้ำเขียว หรือแยกคนออกจากป่า แยกพื้นที่ใช้ประโยชน์ชัดเจน โดยมีการจัดสรรที่ทดแทนให้เป็นที่อยู่อาศัย-ปลูกบ้านครอบครัวละ 2 งานและที่ทำกินครอบครัวละ 20 ไร่ พร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามรระเบียบการปลูกพืช เพราะมีความเชื่อว่า ป่าที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ได้ ต้องไม่มีภาวะที่ถูกรบกวน ซึ่งได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรก็มีการปลูกป่าทดแทนและบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกป่าทดแทนและกลายเป็นทุ่งหญ้า ได้มีการฟื้นฟูเองโดยธรรมชาติ
3.การทำงานต่อเนื่องของหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบ ซึ่งจะสัมพันธ์กับข้อที่ 2 เพราะการอยู่ยาวนานช่วยให้เกิดความรู้จัก สนิทสนม คุ้นเคยกับประชาชนในชุมชนหรือในพื้นที่ ทำให้ง่ายในการสื่อสารและสร้างความร่วมมือ ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน
4.การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ดูแลทุกสิ่ง ทั้งการทำงานอนุรักษ์และการใช้ชีวิตของเจ้าหน้าที่ภายในสถานีฯ เช่น ระบบบริการสนับสนุนการป้องกันการบุกรุกป่าของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.)โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีติดตามน้ำ สัตว์ ส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก-ขยายพืชป่ากินได้โดยใช้แม่พันธุ์จากป่าสะแกราช หรือการแปรรูปพืชผลจากป่า เป็นต้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯหนุนจัดทำพื้นที่ต้นแบบ “สะแกราช โมเดล”
ความสำเร็จในการบริหารจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืนส่งผลให้เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลักดันให้มีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบสะแกราชขึ้นหรือ “สะแกราช โมเดล” ซึ่งได้ระดมคณะการบูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อทรัพยากร จัดทำแผนพัฒนาแหล่งสงวนชีวมณฑล โดยใช้สถานีฯสะแกราช เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) บนพื้นฐาน “ประชารัฐ” บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดีแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลรักษาป่า หน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาสังคมได้นำบทเรียนไปใช้ต่อไป อนาคตเราอาจจะได้เห็นป่าที่สมบูรณ์หรือแหล่งสงวนชีวมณฑลเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งก็เป็นได้
ผู้สนใจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผู้ชื่นชอบป่าไม้ ธรรมชาติ รวมถึงหน่วยงาน โรงเรียน หรือครอบครัวต่าง ๆ สามารถติดต่อไปสัมผัสธรรมชาติของป่าที่น่าอภิรมย์แห่งนี้ได้กับทาง“สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” แล้วท่านจะได้สัมผัสกับความประทับใจแบบไม่รู้ลืม…
ขอบคุณ-ข้อมูล-ภาพบางส่วนจากเวบไซต์สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช