มจธ.-4หน่วยงานชูเทคฯสีเขียว
ส่งเสริมไทยผลิต-ใช้รถไฟฟ้า
มจธ. ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตและศูนย์ MTEC ดำเนิน “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย” โดยการสนับสนุนของโครงการร่วมสนับสนุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.และ สวทช. (18เดือน- ธ.ค.2557 – พ.ค.2559 ) จัดประชุมเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการฯ ชี้มีศักยภาพเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์-ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ยังต้องพัฒนาด้านความเร็ว อายุแบตเตอรี่และระบบประจุไฟฟ้าเร็ว
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)กล่าวเปิดงานว่า มจธ.ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ “KMUTT Sustainability Strategic Plan 2010 – 2020” ซึ่งในด้านการคมนาคมขนส่งมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยมลพิษภายในมหาวิทยาลัย ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคมและต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ และยังเป็นต้นแบบให้เห็นถึงประโยชน์ในการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
คุณภัทรพงศ์ เทพา ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทยนี้ จะมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานที่เป็นสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกและโครงการฯ ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กฟผ.จะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เมื่อมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น การผลิตไฟฟ้าจะเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และการไฟฟ้าฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ดังนั้น ผลการศึกษาโครงการนี้ จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ให้กับ กฟผ.ในการวางแผนการจัดการการใช้ไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงมากขึ้น และหวังว่าผลการศึกษาจะช่วยให้หันมาตระหนักถึงสิ่งสำคัญด้านปัญหามลพิษและความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงหันมาใช้จักรยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนมุ่งเป้าด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบ และพัฒนาพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยแผนฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและทดลองใช้จริงให้ได้ แบ่งเป็น 4 แผนงานวิจัย คือ 1) ด้านแบตเตอรี่และระบบจัดการพลังงาน 2) ด้านมอเตอร์และระบบขับเคลื่อน
3) ด้านโครงสร้างน้ำหนักเบาและการประกอบ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักรถเบาลง และ 4) ด้านการพัฒนานโยบาย มาตรฐาน และบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษาโครงการนี้ ก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล และถือว่าเป็นการระดมสมองช่วยกันคิด ช่วยกันปรับปรุงพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปรู้จักและหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและมีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักให้แพร่หลายเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากคุณวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึง“สถานการณ์อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ไทยและแนวโน้มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า” ว่า ประเทศในเอเชียนิยมใช้รถจักรยานยนต์ถึงกว่าร้อยละ 90 ของการใช้รถจักรยานยนต์ของโลก และประเทศที่มีการผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในเอเชีย คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทยตามลำดับ โดยเฉพาะจีนแม้จะมีปริมาณความต้องการใช้ในประเทศค่อนข้างมาก แต่การผลิตส่วนใหญ่เน้นการส่งออกเป็นหลัก แต่ล่าสุดจีนมีนโยบายที่จะลดปริมาณการใช้จักรยานยนต์ที่ไม่ใช้ไฟฟ้าลง เพราะจีนมีปัญหาเรื่องของมลภาวะ และหันมาสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวกับจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
กลับกันประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกค่ายทั้งจากค่ายญี่ปุ่นและค่ายยุโรป สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน ส่วนใหญ่ใช้เองในประเทศกว่า 1.6 ล้านคันต่อปี ขณะที่ส่งออกรถจักรยานยนต์เพียง 4-5 แสนคันต่อปี แต่ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาไทยเริ่มมีการส่งออกรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเริ่มเป็นที่นิยมและไทยยังเป็นฐานในการส่งออกบิ๊กไบค์ในภูมิภาค จึงมองว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แม้ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยขณะนี้จะมีปริมาณลดลง แต่แนวโน้มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้ามาแน่ ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมมาตรการที่จะให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เรื่องของนโยบายสนับสนุน มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานของชิ้นส่วนต่างๆ
ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จาก มจธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน แต่มีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ถึง 10,000 คัน อีกทั้งยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่มีการใช้งานในประเทศไทย และไม่มีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน ซึ่งทีมวิจัยได้มองเห็นข้อดีในการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าด้วยรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำถามที่สำคัญของทีมวิจัยคือทำไมเทคโนโลยีใหม่ที่ดีเช่นนี้จึงไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย โครงการนี้ จึงเป็นการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากการทดสอบจริงโดยผู้บริโภค และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งจากการประเมินภาพรวมเทคโนโลยีของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการทดสอบตามมาตรฐานจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน มีระยะทางการวิ่งและความเร็วต่ำกว่าค่าที่ผู้ผลิตกำหนดค่อนข้างมากด้วยข้อจำกัดตัวแบตเตอรี่และการออกแบบตัวรถเป็นหลัก จึงได้เสนอแนวทางการออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อให้ได้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้บริโภค
ด้านการประเมินพฤติกรรมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ดร.ปิยธิดา ไตรนุรักษ์ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า มุมมองของผู้ใช้รถจักรยานยนต์เห็นว่าการออกตัว ระยะเวลาการประจุไฟ และระยะทางที่วิ่งได้ต่อการประจุไฟหนึ่งครั้ง ยังเป็นประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เห็นว่าหากมีการพัฒนาในเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้นานขึ้น การทำให้สามารถวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นต่อการประจุไฟแต่ละครั้ง รวมถึงการพัฒนาระบบประจุไฟฟ้าเร็ว (Quick charging) ที่ทำให้ระยะเวลาประจุไฟสั้นลง จะทำให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อระยะทางของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่น้อยกว่า 20 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อคำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน
ขณะที่การประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมนั้น ดร.นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยโครงการฯ จากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. กล่าวว่า เมื่อมีการคาดการณ์การขยายตัวของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ารถโดยสารไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พบว่า ภายในปี 2579 สามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลสะสมได้ถึง 4 แสนล้านบาทและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 90 ล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าโดยมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่ไม่มียานยนต์ไฟฟ้าเพียง 2% เท่านั้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ ยังได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการใช้และการผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์มากขึ้นและภาครัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนที่สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป