คลัง-ก.วิทย์ส่งกฎหมายภาษี0%
หนุนธุรกิจVC 10ปี-Startup5ปี
กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแถลง “สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการเงินร่วมลงทุนและผู้ประกอบการใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยี” ระบุออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อยกเว้นภาษีหรือภาษี 0% สำหรับกิจการเงินร่วมลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนาน 10 ปีและนาน 5 ปีสำหรับผู้ประกอบการใหม่
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรมมากกว่าการใช้ทรัพยากรเป็นปัจจัยการผลิตดังเช่นในอดีต ซึ่งจะต้องสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยีมักจะประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทที่เน้นการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจึงทำได้ยาก เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน อีกทั้งเทคโนโลยีที่เป็นแหล่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจนั้นประเมินมูลค่าได้ยาก ดังนั้น การร่วมลงทุนจากกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ประเทศอื่นๆ ใช้ในการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 597 และฉบับที่ 602 พ.ศ. 2559 เพื่อยกเว้นภาษีให้แก่กิจการเงินร่วมลงทุนรวมถึงนักลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน และผู้ประกอบการรายใหม่ การสนับสนุนดังกล่าวครอบคลุม 10 คลัสเตอร์เป้าหมายที่เป็น S-Curve ของประเทศ เพราะรัฐบาลต้องการให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจ VC ในการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ตามแนวคิดประชารัฐ หรือ Public-Private Partnership ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างและขยายขนาดของธุรกิจเงินร่วมลงทุนให้เกิดขึ้นและเป็นเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจฐานเทคโนโลยีเกิดขึ้นและให้เติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นแพลทฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งเป็นโอกาสใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการ ดังเมื่อเร็ว ๆนี้ที่มีการจัดงาน Startup Thailand 2016 เป็นเวลา 4 วัน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่มีเหล่า Startup ของไทยและต่างประเทศมาร่วมมากกว่า 180 บูธ ได้เห็นโอกาสหลายอย่าง ทั้งเห็นความสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการใหม่ของไทย ทำให้ชาวต่างประเทศคาดไม่ถึงและประหลาดใจที่ไทยมีของดีอยู่มาก มี Startup คุณภาพและสนใจจะทำงานร่วมกับบริษัทไทย จึงต้องให้กำลังใจและมีปัจจัยเชิงบวกสนับสนุน สร้างระบบนิเวศให้Startup ผลักดันให้ประสบความสำเร็จ มีกิจกรรมสนับสนุนต่อไป เช่น จะจัดงาน Startup Thailand ในส่วนภูมิภาคต่อ ที่เชียงใหม่ สงขลาและภูเก็ต”
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กลไกธุรกิจเงินร่วมลงทุนได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ตั้งแต่ปี 2545 โดยการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545 เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ที่ลงทุนใน SMEs ซึ่งภายหลังจากมาตรการสนับสนุนทางภาษีสำหรับ VC ได้สิ้นสุดลงในปี 2554 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปรับปรุงรูปแบบการสนับสนุนธุรกิจ VC จากการสนับสนุนและเน้นการเติบโต SMEs เป็นการสร้างธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้
โดยได้กำหนดขอบเขตของธุรกิจฐาน วทน. ที่ต้องการสนับสนุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีหลักตามที่ สวทช. ประกาศกำหนดเป็นฐานในการประกอบกิจการ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่นักลงทุน ธุรกิจ VC และผู้ประกอบการรายใหม่ สำหรับการลงทุนและประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการผลิตและการให้บริการ ในพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ
“พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 597 ใหม่มีการสนับสนุนมากขึ้นและมีข้อจำกัดน้อยกว่า พระราชกฤษฎีกาฯปี 2545 เดิมที่กำหนดให้VC ต้องลงทุนในธุรกิจ SMEs เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี และต้องถือหุ้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับ 597 ให้สิทธิยกเว้นภาษีหรือภาษี 0% เป็นเวลา 10 ปีหรือ 10 รอบบัญชี แก่ บริษัทที่ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนและทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน( Privat Equity Trust) ที่จดทะเบียนตามกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งบุคคลที่ลงทุนในธุรกิจ VC ดังกล่าว ทั้งในส่วนของเงินปันผล(Dividend) และกำไรหรือรายได้จากการขายหุ้น(Captital Gain)”
ขณะที่ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นบริษัท VC ที่จะได้รับประโยชน์ ต้องจดแจ้งบริษัทตามกฎหมายของประเทศไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นี้ โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 597 นี้ถือเป็นกฎหมายสนับสนุนการลงทุนของ VC ที่ดีที่สุดในภูมิภาค อนาคตจะช่วยให้ประเทศมีรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่รายได้ที่สูงขึ้นได้ ในส่วนพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 602 ยกเว้นภาษีแก่ผู้ประกอบการใหม่เป็นเวลา 5 ปีหรือ 5 รอบบัญชี ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิเมื่อจดทะเบียนตั้งบริษัทระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559
สำหรับนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันธุรกิจเทคโนโลยีเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทันสมัย ภาครัฐเห็นความสำคัญจึงช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่ธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเทคโนโลยีสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีคุณภาพสร้างความเข้มแกร่งและสามารถแข่งขันได้ เพราะธุรกิจเทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการสามารถสร้างและเพิ่มมูลค่าจากนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ และในขณะเดียวกัน จะเปนโอกาสให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพอีกด้วย
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สวทช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับรองกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการ โดย สวทช. จะประกาศรายชื่อเทคโนโลยีหลัก และจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้การรับรองกิจการเหล่านี้ โดยเชื่อว่าสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 มาตรการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเกิดธุรกิจเทคโนโลยีจำนวนมากขึ้น จะทำให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานใหม่ของประเทศ
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิตโดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา S-curve ในรูปแบบที่ 2 คือ New S-curve ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ซึ่งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ ร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่
การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness
Tourism)
4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
ส่วนการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย
6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio-chemicals)
9. อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ภาพ-ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ จาก http://click.senate.go.th/