การใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน ที่บางคนโหมทำงานอย่างหนัก และการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน การอยู่ ที่ไม่สมดุล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคที่เรียกกันว่า “กษัย” ซึ่งคือ โรคชนิดหนึ่งที่พิษของโรคจะค่อยๆ ทำลายสุขภาพร่างกายของคนเราให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อยๆ และมีอาการหลายอย่างตามมา อาทิ อาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ นอนไม่ค่อยหลับ ปัสสาวะกระปริกระปรอย ท้องผูก เกิดริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้และภาวะไตกำเริบ ต้องล้างพิษช่วย
ตามแนวทฤษฎีการแพทย์แผนไทย กษัย, กไษย หรือกไสย เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมซูบผอม สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ เกิดโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำลายสุขภาพร่างกายให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย และเนื่องจากไม่มีการแสดงอาการที่ชัดเจน มีเพียงอาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ บางครั้งรู้สึกแน่นท้อง หนักตัว กินไม่ได้มาก นอนไม่ค่อยหลับ ปัสสาวะกระปริกระปรอย ชาปลายมือและปลายเท้าบ้าง มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ยอกเสียวตามหัวอกและชายโครง มีตกกระตามร่างกาย กล้ามเนื้อชักหดลีบ มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ และท้องผูก ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
ลักษณะกษัยโรค มี 26 จำพวก แบ่งเป็น
กษัย 8 จำพวก คือ กษัยกล่อน 5 กษัยน้ำ 1 กษัยลม 1 กษัยไฟ 1 ทั้ง 8 จำพวกนี้เกิดแต่กองสมุฎฐานธาตุ แจ้งอยู่ในคัมภีร์วุฑฒิกะโรค
กษัยบังเกิดเป็นอุปปาติกะโรค มี 18 จำพวก คือ กษัยล้น กษัยราก กษัยเหล็ก กษัยปู กษัยจุก กษัยปลาไหล กษัยปลาหมอ กษัยปลาดุก กษัยปลวก กษัยลิ้นกระบือ กษัยเต่า กษัยดาน กษัยท้น กษัยเสียด กษัยไฟ กษัยน้ำ กษัยเชือก กษัยลม รวม 18 จำพวก
จากความเห็นของหมอพื้นบ้านภาคกลาง กษัย หมายถึง ธาตุเสื่อม
หมอพื้นบ้านภาคเหนือ กษัย หมายถึง โรคเสื่อม หรืออวัยวะเสื่อม มีมากกว่าสมัยก่อน เพราะปัจจุบันคนเราทุกวันนี้ทำงานจำเจ นั่งมาก ยืนมาก เดินมาก กินมาก ทำให้เป็นกษัยได้ง่ายกว่าสมัยก่อน
ทางภาคเหนือเรียกโรคกษัยว่า “มะโหกโรค โดยกษัย” จะแปรปรวนไปได้ 3 ทาง คือ
1. ริดสีดวงทวาร
2. ริดสีดวงลำไส้
3. โรคไตกำเริบ
วิธีการป้องกัน
1. เมื่อมีอาการปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งมีอาการท้องผูก ควรทานผักและผลไม้เพื่อช่วยระบาย ความจริงแล้ว ผักและผลไม้ควรรับประทานให้ได้ทุกวัน หรือวันเว้นวัน ยิ่งรับประทานได้มากก็ยิ่งดี ผักควรแช่น้ำด่างทับทิมหรือน้ำใส่เกลือทิ้งไว้ 30 นาที เพื่อขจัดยาฆ่าแมลง ผักและผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ช่วยให้แก่ช้า นอกจากนี้ การรับประทานนมเปรี้ยวก็ช่วยเรื่องระบบลำไส้ได้ดี
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. การล้างพิษที่สะสมในร่างกายหรือการถ่ายกษัย
สำหรับ การล้างพิษ ก็คือ การทำให้สารพิษต่างๆ ไม่ไปทำลายเซลล์ เป็นการขจัดสารเสียต่างๆ ให้ลดน้อยลงหรือหมดไป เปิดโอกาสให้ร่างกายฟื้นฟูตนเองเพื่อจะได้หายจากโรค ซึ่งสารพิษตัวร้าย ก็ได้แก่ อนุมูลอิสระ ซึ่งนอกจากเรารับจากอาหารการกิน และอากาศที่หายใจเข้าไปแล้ว กระบวนการย่อยอาหาร ดูดซึมอาหาร และสลายอาหารเป็นพลังงาน ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเช่นกัน ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ที่กินมาก ย่อยมาก แถมกินผิดๆ มีสารปนเปื้อน มีสารแต่งสีแต่งกลิ่น และเสริมด้วยความเครียด สารพิษอนุมูลอิสระก็ก่อรูปในตัวมากยิ่งขึ้น
และหากมีสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายมากก็จะมีอาการแสดงให้เห็นได้เช่น
• อาการปวดศีรษะบ่อย หงุดหงิด
• ดูดซึมสารอาหารจำพวกแป้งมาก และระบบเผาผลาญทำงานน้อย ทำให้ร่างกายอ้วน
• ขับถ่าย และละลายสารพิษไม่ออก จะเกิดสิวเสี้ยนบนใบหน้า และฝ้าดำบนใบหน้า
• อ่อนเพลีย ง่วงนอน สมาธิไม่ดี ความจำเสื่อม
• ประสาทตึงเครียด และร่างกายไม่แข็งแรง เพศสัมพันธ์เสื่อม
• ท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายยาก ถ่ายไม่ออก
• เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ และผายลมบ่อยๆ
• ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และมีไข้ต่ำๆ ตลอดเวลา
• เหนื่อยง่าย ปากเหม็น ปากเปื่อย มีกลิ่นตัวแรง
• เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง มีผื่นคันขึ้นตามตัว เป็นแผล และเป็นฝีบ่อยๆ
• มีอาการหอบหืด ภูมิแพ้ เป็นลมพิษได้ง่าย
• ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามข้อและกระดูก ตลอดจนเป็นรูมาตอยด์
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า พิษ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็ง พิษที่ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายแล้วจะถูกกำจัดทางปัสสาวะ ทางเหงื่อ ทางลมหายใจ และยังมีพิษบางส่วนที่ตกค้างในลำไส้ สามารถถูกดูดซึมเข้าไปและตกค้างจนเป็นพิษเฉพาะที่ อันเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ โรคผนังลำไส้โป่งพอง เป็นต้น
ส่วนการกำจัดพิษก็มีได้หลายทาง คือ
1. การล้างพิษโดยการขับเหงื่อ
การขับเหงื่อเป็นการขับพิษจากของเสียที่เป็นผลจากการทำงานของร่างกาย และเป็นการขับพิษที่ระดับผิว จากการถูกทำลายด้วยปัจจัยก่อโรคจากภายนอก ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และเพิ่มการไหลเวียนเลือดมายังส่วนผิวของร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรงและชะลอความแก่ สมุนไพรช่วยขับเหงื่อ เช่น ตะไคร้ กระเทียม กระเพรา ซึ่งผสมเป็นเครื่องเทศอยู่ในอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีศาสตร์การอบไอน้ำ ซึ่งถือเป็นการกำจัดพิษทางเหงื่อ เพื่อให้น้ำเหลืองมีการไหลเวียนดีขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้ดี อย่างไรก็ตาม คนที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือการใช้วิธีการขับเหงื่อมากเกินไป อาจมีโทษแก่ร่างกายได้ โดยคนที่เหงื่อออกมากผิดปกติ อาจเกิดจากความร้อนในร่างกายมากเกินไป หรือร่างกายเสียสมดุลยิน-หยาง ยินพร่องทำให้เกิดความร้อนภายใน เหงื่อจึงออกง่าย หรือคนที่ร่างกายขาดพลังปกป้องผิว ก็ทำให้เหงื่อออกง่ายได้เช่นกัน
2. การล้างพิษด้วยการขับปัสสาวะ
การกำจัดสารพิษที่ถูกดูดซึมเข้าไปแล้วนั้น ในสมัยโบราณมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ที่ช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะด้วย และยังช่วยบำรุงไตซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และดูดซึมสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและรักษาความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ตะไคร้ กระเจี๊ยบแดง กระเทียม ขลู่ อ้อยแดง เป็นต้น นอกจากช่วยขับสารพิษแล้วยังช่วยแก้อาการขัดเบา ในผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัดไม่คล่อง แต่ต้องไม่มีอาการบวม
3. การล้างพิษด้วยการขับถ่าย
การกำจัดพิษที่ตกค้างในลำไส้โดยการขับถ่าย ปัจจุบันเป็นที่นิยมกันในนาม “ดีท๊อก” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า “Detoxification” ซึ่งเป็นการสวนล้างทวาร เช่น การสวนด้วยกาแฟ เป็นต้น แท้ที่จริงแล้วการ “ดีท๊อก” ที่ว่านี้คนไทยทำกันมานานแล้วในระยะ 50-70 ปีที่ผ่านมา คนไทยนิยมต้ม น้ำสมอไทย มะขามป้อม สมอพิเภก ซึ่งมีชื่อตำรับยาว่าตรีผลา ผสมกับกระพังโหม หรือ เถาตดหมูตดหมา ดื่มเป็นประจำเพื่อระบายท้อง คนอินเดียนิยมกินยาถ่ายอาทิตย์ละครั้งเพื่อกำจัดพิษที่คั่งค้างอยู่ในร่างกาย
4. การล้างพิษทางเดินหายใจ
การล้างพิษด้วยการหายใจโดยการฝึกหายใจ ถือเป็นการเติมออกซิเจนให้กับร่างกาย การหายใจลึกๆ เป็นการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างร่างกายและจิตใจ ปอดและกะบังลมทำให้ออกซิเจนหมุนเวียนดีขึ้น ส่งผลทำให้จิตใจสงบ และยังช่วยกำจัดพิษออกทางลมหายใจ ช่วยขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้หมด นอกจากนี้ ยังมียาดมชนิดต่างๆ ที่ทำให้คนเราหายใจได้ลึกขึ้น เพื่อกำจัดพิษที่ตกค้างได้มากขึ้นด้วย
การล้างพิษที่สะสมในร่างกายหรือการถ่ายกษัยที่ถูกวิธี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำความเข้าใจเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งทางศูนย์การเรียนรู้ฯ อภัยภูเบศร ได้นำวิธีการล้างพิษหรือการถ่ายกษัยง่ายๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยอ้างอิงจากตำรับตำราโบราณที่มีการใช้สืบเนื่องมา ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องล้างพิษ ต้องถ่ายกษัย
และเรียนรู้วิธีการทำอย่างถูกต้อง ในกิจกรรม “ยากษัย ไตพิการ…ตำนานการล้างพิษแบบไทย” ที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตลอดเดือนพฤษภาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ที่ศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชนด้านการแพทย์แผนไทย ตึกพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่ โทร 037-211-088 ต่อ 3333 หรือ 087-582-0597