TCELS โชว์สตาร์ทอัพชีววิทย์
เล็งขยายความร่วมมือนานาชาติ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเปิดบ้านจัดงาน Opening Life Sciences Startups 2016 นำเสนอผลงานของบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่โตต่อยอดมาจากการนำผลงานวิจัยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง เช่น บริษัทลีดเดอร์ เมดิคอล เจเนติกส์ฯโชว์เทคโนโลยีคัดกรองพาหะโรคพันธุกรรม บริษัทศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ โชว์เทคโนโลยี ตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมทารกในครรภ์ บริษัทดีเอ็นเอ เคมิคอลเฮาส์มีเทคโนโลยีอัลตร้าไวโอเลตฆ่าเชื้ออุปกรณ์ศูนย์อาหาร
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน Opening Life Sciences Startups 2016 โดยกล่าวในช่วงหนึ่งว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบนฐานความร่วมมือของกลไกประชารัฐ TCELS เองเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญ ที่จะร่วมผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและช่วยกันเสริมสร้างพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทุกๆด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า การจัดงาน Startup Thailand 2016 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากฐานเดิมของประเทศไทยที่มีสตาร์ทอัพอยู่ราว 1,000-2,500 ราย เชื่อว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ และด้วยมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุน ทั้งลดหย่อนภาษีให้ผู้ที่เข้ามาทำกิจการ Venture Capital ลดหย่อนภาษีเงินรายได้ เงินปันผล และในกรณีโอนหุ้น ให้ไม่ต้องเสียภาษี วันนี้เราได้เห็นความก้าวหน้าของงานด้านชีววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ TCELS ได้ขับเคลื่อนมาอย่างเข้มแข็ง มีผลงานออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบสตาร์ทอัพ ในเทคโนโลยีการแพทย์แห่งอนาคต ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ทำให้เห็นโอกาสในการเติบโตแบบก้าวกระโดด
“ผมอยากให้ TCELS ในฐานะเป็นเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนงานด้านชีววิทยาศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ขยายความร่วมมือกับภาคเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เปิดมุมมอง การคิดใหม่สู่นอกกรอบ เพื่อให้ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต มีผลงานอยู่ในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง” ดร.พิเชฐ กล่าว
ด้านดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า TCELS ดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้งในส่วนของ ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและเติมอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งกำลังจะขับเคลื่อนผ่านโครงการพัฒนาศูนย์บริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุแบบองค์รวมและคาราวานเมืองสุขภาพ โดยจะนำร่องที่ จ.ปราจีนบุรี
2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมโดย TCELS ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์ ทั้งการสนับสนุน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อนำสู่เชิงพาณิชย์ 3. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยให้การสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์แห่งอนาคต โดยทำงานในเชิงประชารัฐ ด้วยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม นอกจากนี้ TCELS ยังให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
ดร.นเรศ กล่าวว่า ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่มาร่วมแสดงผลงานในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจาการที่ TCELS ให้การส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่ต้นทาง จนมีการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ และมีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังเตรียมความพร้อมออกสู่ตลาด โดยเฉพาะโครงการที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยในวันเดียวกัน TCELS ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท EXPARA ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดตั้ง สตาร์ทอัพ ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญ ในการที่เป็นข้อต่อด้านชีววิทยาศาสตร์ฯ ที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในภาคเศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่ร่วมแสดงผลงาน ประกอบด้วย 1.บริษัท ลีดเดอร์ เมดิคอล เจเนติกส์ แอนด์ จีโนมิกส์ จำกัด (LMGG) มีเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว ครอบคลุมการคัดกรองพาหะโรคพันธุกรรม 2.บริษัท ศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ จำกัด (MGC) ดำเนินการด้านการให้บริการตรวจทางพันธุศาสตร์ทางการแพทย์ โดยมีเทคโนโลยี ที่สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมทารกในครรภ์โดยสามารถตรวจโครโมโซมจากสิ่งส่งตรวจ เช่น เลือด และน้ำคร่ำ จากมารดา 3.บริษัท ไทยรีโปรดักส์ถีพ เจเนติกส์ จำกัด เป็นบริษัทของคนไทยที่เปิดดำเนินการเพื่อให้บริการการตรวจคัดกรอง ภาวะมีบุตรยากเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคู่สามีภรรยา
4.บริษัท โรซาริน เมดิก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสกัดจากน้ำยางพารานำไปผลิตเครื่องสำอาง ทดลองตลาดแล้วได้รับการยอมรับอย่างดี 5. บริษัทฟลอร่า แคร์ จำกัด เป็นบริษัทที่เติบโตมาจากการบ่มเพาะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาเชื่อมต่อช่วงของการพัฒนาสูตรเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากห้องปฏิบัติการสู่การให้บริการผลิตรวมถึงการจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ผ่านมาบริษัทได้เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตตัวอย่างเครื่องสำอางยางพาราด้วย ขณะนี้ได้ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์
6.บริษัทบริษัท พี.เอส.ยู. นวัตวาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นบริษัทแรกของประเทศที่นำสารสกัดยางพารามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทออกจำหน่ายในท้องตลาดจนถึงปัจจุบัน และ 7. บริษัทดีเอ็นเอ เคมิคอลเฮาส์ จำกัด ผลิตเครื่องอบช้อนยูวี ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในศูนย์อาหาร ยับยั้งเชื้อโรคบนช้อน-ส้อม ก่อนนำไปใช้ โดยการใช้เทคโนโลยีอัลตร้าไวโอเลต ทดแทนการใช้หม้อลวกช้อน โดยมีประสิทธิภาพลดปริมาณเชื้อโรคได้ถึง 99% และได้ผ่านการทดสอบประสิทธิในการทำลายเชื้อโรค