วช.จับมือกรมการปกครอง
เชื่อมระบบวิจัย-ทะเบียนราษฏร์
วช.ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฏรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยวิธีเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (ONLINE) และการใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนกับกรมการปกครอง เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับระบบฐานข้อมูลนักวิจัย ในระบบNRMS อนาคตช่วยให้การพิจารณาทุนวิจัย งบวิจัยของประเทศชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการสามารถตรวจสอบสถานภาพนักวิจัย ประวัติการวิจัย แก้การวิจัยซ้ำซ้อน วิจัยไม่สำเร็จ
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System, NRMS) ซึ่งเป็นระบบสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยและงบประมาณวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ, นักวิจัย, วช., แหล่งทุนวิจัย และสำนักงบประมาณ อันประกอบด้วย ระบบฐานข้อมูลนักวิจัย (Researcher) ระบบประเมินข้อเสนอการวิจัย (Proposal assessment) ระบบดำเนินการและติดตามงานวิจัย (Ongoing & monitoring) และระบบประเมินผลงานวิจัย (Research evaluation) โดยหน่วยงานที่ใช้ระบบ NRMS มีจำนวน 374 หน่วยงาน และมีข้อมูลโครงการในระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน
สำหรับระบบฐานข้อมูลนักวิจัย (Researcher) เป็นหนึ่งในระบบ NRMS เป็นส่วนจัดเก็บข้อมูลนักวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขอทุนวิจัย และการได้รับจัดสรรงบประมาณการวิจัย ความเชี่ยวชาญ ผลงานและรางวัลที่นักวิจัยได้รับ โดยจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นของระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository, TNRR) และระบบค้นหาผู้เชี่ยวชาญ (Expert finder) เพื่อใช้ประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้นักวิจัยในระบบ NRMS ขณะนี้มีจำนวน 71,097 คน โดยนักวิจัยที่มีข้อมูลการเสนอข้อเสนอการวิจัย มีจำนวน 53,475 คน นักวิจัยที่มีข้อมูลโครงการวิจัยที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 41,142 คน และนักวิจัยที่มีข้อมูลผลงานตีพิมพ์จำนวน 8,230 คน (ข้อมูลจากระบบ NRMS ณ วันที่ 25 มีนาคม 2559)
เลขาธิการฯ กล่าวว่า ความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลในครั้งนี้จะส่งผลดีในการตรวจสอบข้อมูลนักวิจัย โดยในการยื่นเสนอขอทุนวิจัย นักวิจัยจำเป็นต้องลงทะเบียนเป็นนักวิจัยในระบบ NRMS ใช้เลข 13 หลักตามบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลนักวิจัยในระบบ NRMS ที่เชื่อมโยงข้อมูลประชากรในทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมการปกครอง จะช่วยให้สามารถตรวจสอบตัวบุคคลของนักวิจัยและพิสูจน์ตัวตนของนักวิจัย ตลอดจนตรวจสอบสถานภาพปัจจุบันของนักวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โปร่งใสขึ้น จากเดิมไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
“การเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์จะทำให้ วช. มีข้อมูลสถานภาพปัจจุบันของนักวิจัยของประเทศ ช่วยคัดกรองนักวิจัย การวิจัยซ้ำและผู้ที่ได้ทุนไปแล้วแต่วิจัยไม่สำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่งหากเกิน3ปีจะไม่สามารถขอทุนได้อีก กระบวนการเหล่านี้จะทำให้การจัดสรรงบประมาณวิจัยแก่นักวิจัยที่มีการพิสูจน์ตัวตนและสามารถตรวจสอบได้ถูกต้องและทำให้ใช้งบประมาณวิจัยของประเทศได้เกิดประโยชน์สูงสุด”
สำหรับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ด้านนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า ยินดีที่วช.ตระหนักในความสำคัญขอใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนที่เก็บมานานกว่า 30 ปี และรัฐบาลสนับสนุนให้นำมาใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ข้อมูลประเทศ นำมาใช้ยึดโยงและเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการหลายอย่างเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ในการติดต่อใช้บริการต่างๆจากหน่วยงานราชการ ลดการใช้กระดาษ สร้างความโปร่งใส ลดคอร์รัปชั่นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
“ที่ผ่านมามีการแปลงข้อมูลเอกสารเป็นดิจิตอล แต่ถ้าอยู่กับหน่วยงานก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่เวลานี้มีระบบที่เรียกว่า ลิงค์เกต เซ็นเตอร์ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆได้โดยไม่ต้องไปที่หน่วยงาน ทำให้สะดวก รวดเร็ว”
นายชำนาญวิทย์กล่าวต่อว่า แม้จะมีหน่วยงานราชการมากกว่า 400 แห่ง แต่มีหน่วยงานมาขอใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์เพียง 129 หน่วยงานเท่านั้น โดยวช.เป็นรายที่ 130 อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าจะมีหน่วยงานอื่น ๆมาขอใช้เพิ่มขึ้น