สวทช.-สภาหอการค้าฯปลื้ม
ThaiGAPหนุนSMEsผักผลไม้
สวทช.โดยโปรแกรมITAP ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโชว์ผลสำเร็จโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ด้วยผลงาน 17 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมจนได้รับมาตรฐาน ThaiGAP เตรียมพร้อมสู่มาตรฐาน GlobalGAP และช่วยลดต้นทุนจากมาตรฐาน ThaiGAP มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและการตรวจรับรองที่ถูกกว่า สร้างความมั่นใจผู้บริโภคและมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรไทย ให้แข่งได้ในตลาดอาเซียนและตลาดโลก
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า “จากนโยบายภาครัฐในการสนับสนุน ส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตรสู่สากลในเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย พบว่าปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้นำเรื่องมาตรฐานสินค้าเข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้จากไทย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2557) ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้ เพื่อตรวจหาสารเคมีตกค้างจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่า สินค้าผักและผลไม้เกินครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปตามห้างค้าปลีกและตลาดสดภายในประเทศ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดในสินค้าเกษตรของไทย มากถึงร้อยละ 46.6 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าผักและผลไม้ของไทยอย่างมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศลดลง”
“เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้านมาตรฐานสินค้าผักและผลไม้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในกลุ่มอาเซียน ทาง สวทช. จึงได้ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการความร่วมมือ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” เพื่อผลักดันมาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบชั้นมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ไทยเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ AEC โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP จะได้รับเครื่องหมายโลโก้ ThaiGAP และมีระบบติดตามพื้นที่การผลิตของเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบการขอการรับรองเป็นปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยี GIS และแผนที่ดิจิตอลแบบ Online ในการทำระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ แบบ QR Code เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ที่จำหน่าย และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหากลับอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
และในอนาคตผู้ประกอบการสามารถพัฒนาระบบประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจาก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงความรับผิดชอบดังกล่าว แต่แนวโน้มในอนาคตจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” นางสาวชนากานต์ กล่าว
ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ คุณฐิติศักดิ์ เติมวารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล ออร์แกนิคส์ ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด กล่าวว่า “บริษัทได้ร่วมโครงการการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือสูง จุดสำคัญที่ได้จากโครงการคือ ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบของการผลิตสินค้าให้เป็นรูปเป็นร่างและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บ การบันทึกการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถทวนสอบผลผลิตย้อนกลับได้ว่าขณะที่ปลูกผักและผลไม้ ผู้ปลูกได้ทำอะไรบ้าง โดยชนิดพืชที่ขอการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ได้แก่ มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ซึ่งภายหลังดำเนินการจนได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP พบว่า คุณภาพของมะละกอมีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับด้านการตลาดนั้น เดิมบริษัทฯ จำหน่ายเพียงในประเทศ แต่ปัจจุบันมีลูกค้าจากต่างประเทศให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อสินค้าจากเราไปแล้วหลายรายการ ทำให้มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”
ทั้งนี้ ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยหรือ ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) คือการปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานเอกชนในการจัดการคุณภาพ การผลิตผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อมในการผลิต