ถึงเวลาธุรกิจเสื้อผ้าต้องปรับตัว
TMBชี้ไทยช้อปออนไลน์เพิ่ม
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองคนไทยอินเทรนด์แฟชั่น แห่ช้อปเสื้อผ้าออนไลน์เพิ่มกว่าเท่าตัว ใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับช้อปปิ้งสินค้าและบริการถึง 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 65 ในปี2558 จากปี 2556 มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีจำนวนนักช้อปชาวไทย 0.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2556 แต่ห้มูลค่าตลาดเสื้อผ้าไม่ได้โตมาก สะท้อนเป็นเพียงการเพิ่มหรือขายช่องทางขายจากหน้าร้านปกติมาอยู่บนโลกออนไลน์ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลง
ความเร็วในการสื่อสารและราคาอุปกรณ์ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ลดลง คือส่วนผสมหลักสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาใช้งานอินเตอร์เน็ตในการหาซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบว่าคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ต 24.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปี 2556 และใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับช้อปปิ้งสินค้าและบริการถึง 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 65 โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีจำนวนนักช้อปชาวไทย 0.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2556 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไทยมีมูลค่าประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งขยายตัวน้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของนักช้อปที่เลือกซื้อเสื้อผ้าออนไลน์มาก แสดงให้เห็นว่ากระแสช้อปออนไลน์ไม่ได้ทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น แต่เป็นการย้ายช่องทางการจัดจำหน่าย จากการขายหน้าร้านทั่วไปเป็นจำหน่ายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและมือถือแทน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทย ที่มิใช่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่หากเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงย่อมได้เปรียบคู่แข่ง และสร้างรายได้มหาศาลบนต้นทุนที่ต่ำกว่าการทำธุรกิจรูปแบบเดิม
สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระแสช้อปออนไลน์ อาทิ เทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนเร็วขึ้น ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ลดลง ตลาดที่มีขนาดใหญ่และหลากหลาย เวลาซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมงไม่จำกัดสถานที่ การเข้าสู่ธุรกิจและเลิกกิจการที่ง่ายทำให้การแข่งขันสูง เป็นการทลายข้อจำกัดการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ซึ่งสร้างทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการรายเดิม และผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่ ต้องมีการปรับตัวและวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ เช่น 1) ลดจำนวนผลิตสินค้าแต่ละแบบ/ไซส์ลง เพื่อลดโอกาสขาดทุนจากสินค้าตกเทรนด์ 2) ชะลอการขยายสาขาหรือลดขนาดหน้าร้านลงและส่งสินค้าขายผ่านออนไลน์มากขึ้น เพิ่มช่องทางสื่อสารกับลูกค้าออนไลน์แบบเรียลไทม์
3) สร้างแบรนด์หรือบุคลิกลักษณะสินค้าโดยเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่มรสนิยม เพื่อสร้างกำไรที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป และ โฆษณาออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสร้างลูกค้ารายใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยคุณภาพสินค้า บริการ และการจัดส่งที่รวดเร็ว เป็นต้น การขยายตัวของนักช้อปออนไลน์ยังส่งผลต่อโอกาสและความเสี่ยงไปยังผู้ผลิตอันได้แก่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเช่นกัน จากการสั่งสินค้าต่อแบบและไซส์ที่ลดลงและมีความถี่มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแฟชั่นที่เร็วขึ้น ธุรกิจจึงต้องมีแรงงานที่มีความชำนาญสูง สามารถรับผลิตในจำนวนที่น้อยและต้นทุนที่เหมาะสม จำนวนผู้จำหน่ายหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงทำให้เป็นโอกาสของธุรกิจตัดเย็บสามารถบริหารต้นทุนในการผลิตจำนวนน้อย และมีความสามารถในการตัดเย็บและหรือออกแบบสินค้าให้ธุรกิจเหล่านี้ได้หลากหลายมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าช่องทางการตลาดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความได้เปรียบของผู้ประกอบการแบบเดิมลดลง ธุรกิจที่ปรับกลยุทธ์สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีในกระแสออนไลน์ช้อปปิ้งมาแรงเช่นนี้ ย่อมขยายตัวได้แบบสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจ ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในระยะยาว งานนี้ธุรกิจเล็กๆ อาจล้มยักษ์ใหญ่ก็เป็นได้หากรู้จักปรับตัว และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายปี