TCELSร่วมปราจีนฯ-อภัยภูเบศร
เมืองสุขภาพดูแลคนแก่องค์รวม
TCELS จับมือจังหวัดปราจีนบุรีและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผุดเมืองสุขภาพดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ภายใต้โครงการ เมดิโคโพลิสหรือ “เวชนคร” รองรับสังคมสูงวัยอนาคต ซึ่ง WHO ประเมินในอีก 30 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีคนแก่เพิ่มเป็น 2 พันล้านคน ไทยจะมี14.5 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า พร้อมปักหมุดเวชนครปราจีนบุรีเป็นเมืองสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ให้บริการกับชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เตรียมขยายผลสู่บ้านพี่เมืองน้องติดปราจีนฯได้แก่ พระตะบองเสียมเรียบปลายปีนี้
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่ายร่วมกับนายอุกฤช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนา Medicopolis (เมดิโคโพลิส) หรือเวชนคร ให้เป็นเมืองสุขภาพที่ให้บริการทางการแพทย์แบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมทั้ง รองรับการขยายตลาดสินค้าและบริการสู่ประเทศเพื่อบ้านในยุคเออีซี ทั้งนี้ เนื่องจากจ.ปราจีนบุรีมีเขตพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาคือพระตะบองและเสียมเรียบ ที่มีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันดีมายาวนานนับร้อยปี
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ หรืออีก ๓๐ ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ ล้านกว่าคน โดยประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง ๒๗% ของประชากร และด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย กระแสการส่งเสริมสุขภาพจึงเข้ามามีบทบาทต่อคนในสังคมมากขึ้น การใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศ โดยนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาผสมผสานกับเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาโรคร่วมกัน จะช่วยลดต้นทุนในการรักษาและการนำเข้ายาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังอาจช่วยพื้นฟูสภาพร่างกายให้หายจากการเจ็บป่วยได้เร็วกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างเดียว การลงนามครั้งนี้เพื่อสร้างเวชนครแห่งปราจีนบุรี ให้เป็นศูนย์บริการการแพทย์แบบองค์รวมสำหรับผู้สูงอายุและทำให้เป็นเมืองสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ให้บริการกับชาวไทยและชาวต่างชาติ
เบื้องต้น จะเปิดกิจกรรมตลาดนัดสุขภาพไทยกัมพูชา ให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ไทย และวิทยาการเวชศาสตร์ป้องกันโดยเฉพาะงานด้านการตรวจพันธุกรรม ที่ศูนย์แสดงสินค้ากัมพูชา ในขณะที่ผู้แทนจากกัมพูชาก็จะเข้าร่วมงาน Life Sciences & Bio Investment Asia ๒๐๑๖ ที่จัดขึ้นโดย TCELS เพื่อติดตามเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ คาดว่าจะเปิดโอกาสให้เห็นมุมมองของ เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและการลงทุนระหว่างกัน
“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีชื่อเสียงด้านการพัฒนายาสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับมาตรฐานการผลิตยา GMP/PICs ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีความเข้มงวด เคร่งครัดของสหภาพยุโรป ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตยาและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เทียบเท่ากับกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สนใจที่จะร่วมดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการที่จะก้าวไปสู่การขยายผลสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ที่กำลังมองหาพันธมิตรในการเชื่อมโยงงานวิจัยด้านสมุนไพรและการพัฒนาการแพทย์องค์รวมรวมถึงการพัฒนาให้เป็นเมืองสุขภาพ”ผอ.TCELS กล่าว
สอดคล้องกับ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่อ้างอิงถึงการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปีพ.ศ. ๒๕๖๘ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณ ร้อยละ ๒๐ หรือ ๑๔.๕ ล้านคน จากประชากรทั้งหมด ๗๒.๓ ล้านคน นั่นหมายถึงประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในช่วงปี ๒๕๖๗ – ๒๕๖๘ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีความพร้อมในการนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่ได้มีการสั่งสมความรู้มาเป็นเวลานานมาใช้ในโครงการเวชนครในพื้นที่ปราจีนบุรี
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ความเสื่อมเป็นสิ่งที่มาคู่กับสุขภาพของผู้สูงวัย ดังนั้นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพคนวัยนี้คือจะต้องให้เป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพดีและแข็งแรง ซึ่งสังคมไทยเรามีจุดแข็งจากองค์ความรู้ดั้งเดิมในเรื่อง “ยาอายุวัฒนะ” มีข้อมูลสนับสนุนมากมายเกี่ยวกับสมุนไพรที่ป้องกันการเสื่อมของร่างกาย สำหรับผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรังนั้นก็ควรจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยการฟื้นฟูสุขภาพให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและพึ่งพาตัวเองได้ในโรคพื้นฐาน
“มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมั่นใจว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ปัจจุบันเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้การดำเนินงานในโครงการเวชนคร และเราเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้พร้อม ๆ กับการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขในภาพรวม” เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าว