วอนทุกส่วนดึงนวัตกรรมดิจิทัล
ดันสู่สังคมดิจิทัลไทยแลนด์4.0
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษแสดงวิสัยทัศน์ “การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ในงานสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” เพื่อเปิดตัวส่งเสริมและสร้างความตระหนักเรื่องดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน และสถานบันการศึกษาได้ร่วมกันจัดแสดงเทคโนโลยีที่จำเป็นกับคนไทย สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่ทันสมัย เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2559 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (digital economy) ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วน การปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมี ผู้เข้าร่วมประชุมและรับชมนิทรรศการ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจากทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานในสังกัดของรัฐและภาคเอกชน ผู้แทนจากสถานทูตประเทศต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์ “การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ว่า การเปิดงาน“ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการที่จะพัฒนาศักยภาพประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย และเป็นไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้ดิจิทัลและระบบไอซีทีมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้มีศักยภาพในการที่จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องดังกล่าวได้ พร้อมเชื่อมโยงไปถึงมิตรประเทศต่าง ๆ และประเทศในแถบอาเซียนให้เติบโตและก้าวเดินไปพร้อมกันทุกประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพัฒนาประเทศว่า ต้องการมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่ทันสมัย อุตสาหกรรมไอซีทีมีมูลค่าด้านการตลาดและมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างการรับรู้และเรียนรู้ให้กับประชาชน และทุกภาคส่วนด้วย เพราะยุคปัจจุบันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกได้มีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย ฯลฯ กำลังแข่งขันในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าทันต่อสถานการณ์และสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งรวมถึงการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัลโดยตรง ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล อุปกรณ์โทรคมนาคมดิจิทัล และการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสื่อสารและบันเทิง
รวมทั้ง การใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการผลิตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนเรื่องของแรงงาน สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีการปรับปรุงบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้ดูแลและผลักดันในเรื่องนี้ให้สำเร็จและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การปรับกระบวนการในการทำงานใหม่ กำหนดจุดมุ่งหมาย บูรณการ กำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า และการปรับปรุงกฎหมาย ปัจจุบันรัฐบาลได้เสนอกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมี่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะเดียวกันจะจัดตั้งให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังในลักษณะการประสานพลังประชารัฐจากทุกภาคส่วน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเผชิญบริบทความท้าทายในการพัฒนาประเทศไทยหลายด้าน เช่น ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมเก่าและอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมดิจิทัล 2) ความสามารถในการพัฒนาภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการยังต่ำเพราะเน้นการผลิตแบบใช้แรงงานเป็นหลัก จำหน่ายสินค้าได้มากแต่ราคาถูก ขณะที่ประเทศพัฒนาจะเน้นขายของน้อยแต่ราคาสูง เพราะเป็นสินค้าบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ประเทศไทยจึงต้องพัฒนานวัตกรรมโดยเร่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลในการที่จะให้ความรู้และเชื่อมโยงการผลิต และตลาดการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3) การปรับตัวและฉกฉวยโอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราเข้าสู่ AEC แล้วเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดอาเซียน 600 ล้านคน ที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงการผลิตสินค้าและบริการเพื่อค้าขายระหว่างกัน และค้าขายในตลาดโลกได้
ความท้าทายเชิงสังคม เช่น 1) ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนชนบทหรือคนรายได้น้อย หรือให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ ของรัฐ เช่น การศึกษา สุขภาพ สามารถอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมได้ 2) การที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เทคโนโลยีดิจิทัล (รวมถึงเทคโนโลยีการแพทย์) จะเป็นปัจจัยหลักเพื่อช่วยดูแลสังคมและเกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมถึงไม่ให้คนวัยทำงานที่มีจำนวนน้อยกว่าคนสูงอายุต้องรับภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากเกินไป 3) ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหานี้ได้ เพราะหากมีระบบข้อมูลที่ดี ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ตรวจสอบรัฐบาล ข้าราชการได้ ซึ่งแนวคิดของ Open Data จะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้มาก รัฐบาลจึงมีเจตนาชัดเจนที่ต้องลดหรือปราบปรามการคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย หากพบบุคคลใดที่ลงทุนและมีการเรียกร้องผลประโยชน์รัฐบาลจะดำเนินการโดยเด็ดขาดภายใต้กระบวนการยุติธรรม ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสทุกเรื่อง ตรวจสอบได้
ความท้าทายเรื่องศักยภาพของคน จะต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทยเข้าสู่สังคมแห่งความรู้ มีรายได้สูงขึ้น ทำให้คนไทยใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ใช้สนทนาสื่อสารหรือใช้เฟสบุคเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และจะต้องสามารถวิเคราะห์แยกแยะสื่อและข้อมูลได้ ตลอดจนต้องใช้เทคโนโลยีดิทัลอย่างรู้เท่าทันและรับผิดชอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยโดยอาศัยนวัตกรรมดิจิทัล เปิดใจยอมรับ (Embrace the adoption) และหาโอกาสส่งเสริมให้เกิด เทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ กระบวนการใหม่ สินค้าใหม่ รูปแบบการบริการใหม่ โมเดลทางธุรกิจใหม่เพื่อก้าวเข้าไปสู่การเป็น Digital Thailand ต่อไป และประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับมิตรประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเรื่องดิจิทัล โลจิสติกส์ การบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับต่างประเทศในเข้ามาใช้บริการและลงทุน แต่ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องให้ภาคการเกษตรและภาคการผลิตเติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบด้วย เพื่อวางรากฐานประเทศเข้มแข็ง รวมทั้งขยายไปสู่ประเทศใน CLMV และอาเซียน ก่อนขยายไปสู่ประชาคมโลกต่อไป
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันให้ความเชื่อมั่นกับนานาประเทศว่า รัฐบาลจะดูแลคุ้มครองปกป้องเศรษฐกิจของมิตรประเทศต่าง ๆ ให้ดีที่สุดเช่นเดียวกับดูแลธุรกิจของคนไทย เพราะมิตรประเทศคือผู้ที่ช่วยเหลือสนับสนุนไทยในการลงทุนขยายกิจการและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในการผลิตทรัพยากรบุคคล และการวิจัยพัฒนาพร้อมกล่าวยืนยันถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่าจะก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้อย่างรวดเร็ว
ภายในงานมีนิทรรศการโซนพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นแบบอย่างด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาประเทศ นิทรรศการจัดแสดงแบ่งตามรายยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะนำเสนอรูปแบบของเมืองอัจฉริยะที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย Smart Farm รวมฐานข้อมูล sensor การทำโซนนิ่งและคลัสเตอร์เกษตรปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ Digital Education นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา Digital Classroom และ Interactive Online Learning และ Digital Government ปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเสนอ Digital Services และเทคโนโลยีสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล
ผลงานและนวัตกรรมสมัยใหม่ของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น TRUE AIS DTAC TOT กสทช. Huawei Minebea Lanada NECTEC Microsoft Intel Samsung และกลุ่มธนาคารต่าง ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน เป็นต้น