สภาวิศวกรเตือนเฝ้าระวังทั่วไทย
ขอข้อมูล-สอบรร.เกาะช้างถล่ม
เลขาธิการสภาวิศวกรเตือนเฝ้าระวังอาคารทั่วไทยช่วงหน้าฝน รวมสถานที่ท่องเที่ยวตามไหล่เขา หวั่นดินสไลด์อาคารพังถล่มซ้ำรอย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่มีความเสี่ยงสูงและพบพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลายไปมาก า รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ชี้อาคารโรงแรมถล่มที่เกาะช้างเข้าข่ายวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติวิศวกร 2542 ซึ่งการออกแบบและก่อสร้างอาคารต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรมาดูแล เตรียมขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากเหตุอาคารโรงแรมสยามบีช รีสอร์ท ที่เกาะช้างถล่ม ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกรและนักวิจัยด้านอาคารคอนกรีต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่าอาคารดังกล่าวแม้มีความสูงเพียง 2 ชั้น แต่เนื่องจากมีการใช้งานเป็นโรงแรมที่พัก จึงถือว่าเป็นอาคารสาธารณะตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 และเข้าข่ายเป็นวิศวกรรมควบคุมตาม พระราชบัญญัติวิศวกร 2542 ดังนั้นการออกแบบและก่อสร้างอาคารหลังนี้จะต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรเข้ามาดำเนินงานจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย และวิศวกรมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อมูลชั้นดิน การก่อสร้างคร่อมทางน้ำไหล การก่อสร้างใกล้ที่ลาดชันต่างๆ ในการออกแบบฐานรากและโครงสร้างของอาคาร เพื่อให้อาคารมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เสี่ยงดินทรุดตัวดังกล่าว
ศ. ดร.อมร กล่าวต่อว่าในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าอาคารถล่มได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมควบคุม ดังนั้นสภาวิศวกรจะต้องดำเนินการขอข้อมูลการก่อสร้างอาคารและแบบที่ใช้ ตลอดจนรายชื่อวิศวกรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อเท็จจริงและดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิศวกร 2542 ต่อไป โดยในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนนี้ เวลา 13.30 น. สภาวิศวกรจะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง
“ในระยะนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่มีความเสี่ยงสูงและพบพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากป่าถูกทำลายไปมาก ทำให้มีการเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มรุนแรงในพื้นที่เสี่ยงภัย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังและตรวจสอบอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ตามไหล่เขา เพราะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดดินสไลด์ได้ง่าย หากโครงสร้างอาคารไม่แข็งแรงอาจพังถล่มลงมา รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันเช่นกัน” ศ. ดร.อมรกล่าวทิ้งท้าย