SME Corner..ไก่ยอเพื่อสุขภาพ
เหรียญทองมธ.พร้อมขึ้นห้าง
SME Corner..คอลัมน์สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง หรือ SME วันนี้นำผลงานนวัตกรรมเด่น ๆ ที่พร้อมนำไปต่อยอดผลิตขายเชิงพาณิชย์มานำเสนอ เหมาะกับผู้มองหาลู่ทางทำธุรกิจทั่วไป เป็นผลงานที่เพิ่งไปสร้างชื่อมาเมื่อเร็ว ๆนี้ ได้แก่ “ไก่ยอเพื่อสุขภาพ” ของคณะวิทยาศาสตร์ฯมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นไก่ยอปรุงสุกพร้อมทาน ไร้ไขมันสัตว์ และยังเก็บไว้ได้นานกว่า 3 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น ได้รางวัลเหรียญทองด้านกระบวนการผลิตและรางวัลพิเศษ จากเวที International Invention & Innovation Exhibition ครั้ง27 ที่มาเลเซีย
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี เทพรักษา หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันเต็มไปด้วยความรีบเร่งมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่ทานง่าย อยู่ท้องและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ตลอดจนสามารถพกพาได้อย่างสะดวกและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทางภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารโดยนางสาวขนิษฐ์ณิชา ศักดิ์สมบูรณ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร) จึงได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ไก่ยอเพื่อสุขภาพ” ขึ้น ซึ่งเป็นไก่ยอปรุงสุกพร้อมทาน ปราศจากไขมันสัตว์และมีอายุการเก็บรักษามากกว่า 3 เดือน! โดยไม่ต้องแช่เย็น
สำหรับเทคนิคการปรุงแต่งผลิตภัณฑ์ “ไก่ยอเพื่อสุขภาพ” ทีมวิจัยได้ทดลองใช้น้ำมันรำข้าวที่มีสารโอรีซานอล ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระทดแทนการใช้น้ำมันไขมันสัตว์ทั้งหมดที่เป็นโทษต่อสุขภาพพร้อมกับนำไปผ่านกระบวนปรุงสุก และการฆ่าเชื้อระดับสเตอริไรซ์โดยปราศจากการใช้สารกันเสีย
พร้อมกันนี้ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นถุงลามิเนตหลายชั้น ที่สามารถทนความร้อนในกระบวนการสเตอริไรซ์ได้ สามารถป้องกันความชื้น อากาศและแสงส่องผ่านได้ดี ตลอดจนมีความปลอดภัยสำหรับใช้บรรจุอาหารแบบสุญญากาศ จึงทำให้ไก่ยอเพื่อสุขภาพดังกล่าว สามารถเก็บรักษา ขนส่ง หรือวางจำหน่ายได้ที่อุณหภูมิห้องนานกว่า 3 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้ผลงาน “ไก่ยอเพื่อสุขภาพ” สามารถคว้ารางวัลในเวทีต่างๆ มามากมาย อาทิรางวัลระดับดี กลุ่ม นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ด้านเกษตรศาสตร์ (อุตสาหกรรมเกษตร) จากการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
และ ล่าสุดกับ 2 รางวัล ทั้งรางวัลเหรียญทอง ด้านกระบวนการผลิตและรางวัลพิเศษ จากผู้แทนประเทศซาอุดิอาระเบีย ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 27 (27th International Invention & Innovation Exhibition: ITEX2016) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้สูตรและกระบวนการผลิต ได้รับอนุสิทธิบัตร ในนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในอนาคตคาดว่าจะต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อวางจำหน่ายและเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดฮาลาลต่อไป
ผู้สนใจนำผลวิจัยไปต่อยอดทำธุรกิจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th
เวลานี้โอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยทุกคน อย่าช้า..