ตลาดสื่อสารปี 59ยังสดใส
โต11.5%4G-ยุคดิจิทัลหนุน
การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า เป็นสังคมของเทคโนโลยีสื่อสารไอทีและในยามที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมไทยให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้ตลาดด้านนี้เติบโต โดยการเปิดเผยล่าสุดของกสทช. ร่วมกับสวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารประจำปี 2558 และประมาณการปี 2559 พบว่า ตลาดสื่อสารปี 59 มูลค่าเฉียด 6 แสนล้านบาท เติบโต 11.5% จากอานิสงส์ของ 4G และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐ ดันการเข้าถึงบริการสื่อสารความเร็วสูง เพิ่มการใช้งานดาต้าเติบโต
ดร.กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารในครั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงาน กสทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) และสมาคมเคเบิลลิ่งไทย (TCA) โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2559 เน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรม แล้วนำมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลทุติยภูมิอื่นๆ รวมถึงการจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลเมื่อปลายเดือน เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงาน กสทช. ตามระยะเวลาโครงการสำรวจข้อมูลอินเทอร์เน็ตและศึกษามูลค่าตลาดสื่อสารของประเทศไทย 3 ปี (พ.ศ. 2557 – 2559)
นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการสำรวจฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสารในปี 2558 มีการเติบโต 7.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 535,989 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลง เนื่องจากภาคครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ใช้หลักในตลาดระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้องค์กรที่แม้ภาพรวมจะมีการใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น แต่ไม่สามารถดันตลาดให้โตเป็น 2 หลักได้ นอกจากนี้ นโยบายดิจิทัลอีโคโนมีของภาครัฐยังไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนักในปี 2558 สำหรับในปี 2559 คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสื่อสารจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 11.5 หรือมีมูลค่า 597,584 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากแรงกระตุ้นของการขยายโครงข่าย 3G/4G การดำเนินนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร และการให้บริการให้เป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากสภาวะทางเศรษฐกิจยังเป็นแรงกดดันการเติบโตของตลาดสื่อสาร ขณะเดียวกันหากภาคธุรกิจและภาครัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการแข่งขันในยุคดิจิทัล จะเป็นอีกข้อจำกัดต่อการเติบโตทั้งในมูลค่าตลาดสื่อสาร และของตัวภาคธุรกิจนั้นๆ เอง
ในการจำแนกผลการศึกษาออกเป็นตลาดย่อยในปี 2558 พบว่า มูลค่าตลาดบริการสื่อสารยังมีสัดส่วนหลักถึง 57.7% ของภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการ Nonvoice ในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีการเติบโตกว่า 21.5% หรือมีมูลค่า 107,540 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะเติบโตได้ถึง 41.2% หรือมีมูลค่าถึง 151,847 ล้านบาท ขณะที่บริการ Voice ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีทิศทางหดตัวลงจากในปี 2557 มีมูลค่า 108,864 ล้านบาท และคาดว่าตลาดปี 2559 จะหดตัวลงเหลือ 94,712 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดลบ 13.0% ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ต (ไม่รวมอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ Mobile Data) ในปี 2558 มีมูลค่า 53,578 ล้านบาท เติบโต 10.1% และคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะเติบโต 10.9% หรือมีมูลค่า 59,396 ล้านบาท ในส่วนของตลาดบริการสื่อสารข้อมูล (Data Communication Service) ปี 2558 มีการเติบโต 5.2% หรือมีมูลค่า 14,302 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะเติบโตอีก 5.4% หรือมีมูลค่า 15,071 ล้านบาท โดยทิศทางมูลค่าตลาดลักษณะนี้ชี้ให้เห็นว่า บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคข้อมูลหรือดาต้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ตลาดบริการประเภทเสียงมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2558 ตลาดบริการโทรศัพท์ประจำที่ติดลบ 7.4% หรือมีมูลค่า 14,809 ล้านบาท และคาดว่าจะหดตัวลงเป็นติดลบ 12.1% หรือมีมูลค่า 13,016 ล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่า 10,357 ล้านบาท ซึ่งติดลบ 16.6% และคาดว่าในปี 2559 ตลาดจะยังคงหดตัวลงเป็นติดลบ 24.6% ซึ่งการหดตัวลงเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้บริโภคหันไปใช้การสื่อสารผ่านการ Chat หรือโทรผ่านบริการ OTT ทดแทน
ด้านตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2558 มีสัดส่วนมูลค่าตลาด 42.3% ของตลาดสื่อสารภาพรวม โดยที่น่าสนใจคือ การลงทุนขยายโครงข่าย 3G/4G สะท้อนให้ตลาดอุปกรณ์ไร้สาย ปี 2558 มีการเติบโต 31.0% หรือมีมูลค่า 35,809 ล้านบาท และคาดว่าการขยายโครงข่าย 4G จะผลักดันให้ตลาดปี 2559 เติบโตอีก 42.0% คิดเป็นมูลค่า 50,860 ล้านบาท ในส่วนของตลาดอุปกรณ์โครงข่ายหลักปี 2558 มีการเติบโต 9.3% หรือมีมูลค่า 69,680 ล้านบาท แบ่งเป็นอุปกรณ์ Core Network มูลค่า 45,160 ล้านบาท และ Cabling 24,520 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าปี 2559 ตลาดอุปกรณ์โครงข่ายหลักจะเติบโตได้ถึง 13.1% หรือมีมูลค่า 78,780 ล้านบาท สำหรับตลาดอุปกรณ์ใช้สายปี 2558 มีการเติบโต 7.0% หรือมีมูลค่า 16,030 ล้านบาท และคาดว่าปี 2559 จะสามารถเติบโตอีก 12.2% หรือมีมูลค่า 17,980 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของตลาดอุปกรณ์โครงข่ายหลัก และตลาดอุปกรณ์สื่อสารใช้สายนั้น จะได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของรัฐบาล ทั้งการขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน การพัฒนาบริการ Data Center และ Cloud ของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนจากนโยบายดังกล่าวภายในปี 2559 นี้
สิ่งที่น่าสนใจจากผลการสำรวจอีกด้านหนึ่งคือ ตลาดเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเติบโตแบบชะลอตัวลง โดยในปี 2558 มีการเติบโต 12.9% หรือมีมูลค่า 103,725 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะมีการเติบโต 3.1% หรือมีมูลค่า 106,960 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่า มูลค่าตลาดเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่เป็นตลาดเครื่อง Smartphone ซึ่งในปี 2558 มีมูลค่า 103,050 ล้านบาท และในปี 2559 มีมูลค่า 106,700 ล้านบาท หรือเติบโต 3.5% ขณะที่ตลาด Feature Phone ในปี 2558 มีมูลค่า 675 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าปี 2559 จะเหลือมูลค่าตลาดเพียง 260 ล้านบาท การชะลอตัวของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นผลจากระดับราคาเครื่องมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทั้งจากการส่งเสริมการขายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายต่างๆ เอง และการเข้ามาทำตลาดของเครื่องราคาถูกที่มากขึ้น นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ราคาสูงของผู้บริโภคทำได้ยากขึ้นด้วย ขณะที่ตลาดเครื่องโทรศัพท์ประจำที่ยังมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 หดตัวติดลบ 14.1% มีมูลค่า 1,295 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะหดตัวติดลบ 10.9%
ทั้งนี้ ในปี 2558 พบว่า ภาคครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มผู้ใช้จ่ายหลักในตลาดสื่อสาร โดยมีสัดส่วนการใช้จ่าย 55.7% ต่อมูลค่าตลาดสื่อสารภาพรวม ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีทิศทางลดลงจากปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการใช้จ่ายกลุ่มครัวเรือนที่ลดลง ประกอบกับระดับราคาของผลิตภัณฑ์และบริการมีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันทางด้านราคา จึงส่งผลต่อสัดส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ มีสัดส่วนการใช้จ่าย 44.3% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม และอีกส่วนที่สำคัญคือการลงทุนปรับเปลี่ยนและยกระดับการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เริ่มเห็นอยู่บ้าง แม้การทำธุรกิจจะยากลำบากในสภาะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารของไทยยังเติบโตได้ดี แต่แนวโน้มการทำรายได้จากการให้บริการแบบเดิมๆ ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะยากขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องเพิ่มบริการที่เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการ OTT หรือระบบการชำระเงินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Payment) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เครือข่าย และรวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ไม่สามารถละเลยต่อการพัฒนาบริการผ่านดิจิทัลได้ เพราะแนวโน้มกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่อย่าง Tech Startup เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังเช่น FinTech ในภาคบริการทางการเงิน เป็นต้น และสุดท้ายสิ่งที่ควรให้ความสำคัญต่อสังคมในยุคดิจิทัล คือ การทำให้ประชาชนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต หรือสร้างผลิตภาพ (Productivity) มากกว่าการเสพดิจิทัลเพื่อความบันเทิงเพียงด้านเดียว