ปส. ซ้อมแผนฉุกเฉินทางรังสี
สร้างศักยภาพองค์กร-บุคลากร
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รับนโยบายเร่งด่วนนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่๔ ณ สหรัฐอเมริกา เน้นเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานและบุคลากร เพื่อการกำกับดูแลความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มุ่งหวังให้เกิดการปฏิบัติงานแบบบูรณาการและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีขึ้น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยงานระดับประเทศอย่าง ปส. ที่ต้องปฏิบัติภารกิจประสานความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยกับนานาประเทศ ประกอบกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การเตรียมความพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก อีกทั้ง เป็นการรับนโยบายตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ณ สหรัฐอเมริกา
ปส. จึงจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะองค์การเพื่อการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ “การตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเชิงบูรณาการ” ตั้งแต่วันที่ ๑ – ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ วนอุทยานปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้แก่บุคลากร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการเผชิญเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี การออกตรวจสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งงานสนับสนุนด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กว่า ๑๒๐ คน
นอกจากนี้ยังมีการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด หน่วยแพทย์ฉุกเฉินปราณบุรี มูลนิธิสว่างประจวบธรรมสถาน มูลนิธิแผ่ไพศาลธรรม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปฏิบัติงานแบบบูรณาการและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีขึ้น
ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ปส. ได้รับแจ้งเหตุพบวัสดุต้องสงสัย ณ ซอยพหลโยธิน ๒๔ แยก ๒-๑ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ทีมปฏิบัติการของ ปส. ได้เร่งรัดใช้เวลาอันสั้นในการเข้าพื้นที่ตรวจสอบและปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรฐานสากล ซึ่งพบว่าวัสดุดังกล่าวเป็นอิริเดียม -192 และไม่พบปริมาณรังสีแต่อย่างใด พร้อมควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทราบว่า ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีภายในประเทศ มีการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักนโยบายและบริหารด้านพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0๒-๕๙๖-๗๖00 ต่อ ๑๑๒๓-๑๑๒๗