สสว. ผนึกกรมบังคับคดี-ธพว.
หนุนกม.ฟื้นฟูฯพลิกฟื้นSMEs
สสว. ผนึกกำลัง กรมบังคับคดี และ ธพว. จัดงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ กฎหมายฟื้นฟูกิจการให้แก่ผู้ประกอบการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายให้โอกาสธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจ เข้าสู่ขั้นตอนปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น รวมการได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงช่วยเหลือรายที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ มีSMEs ได้ประโยชน์จากกม.ฉบับนี้ประมาณ 7,400 ราย
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. กรมบังคับคดี และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ร่วมกันจัดงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ” ภายใต้กิจกรรมในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งกำหนดจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยได้รับเกียรติจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวปาฐกถา “การขับเคลื่อนSMEs ด้วยกฎหมายฟื้นฟูกิจการ” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ SMEs ได้รับทราบถึงความเป็นมาของโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEsได้รับ รูปแบบการดำเนินงาน ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเชิญเจ้าหนี้ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เชิญลูกหนี้มาร่วมกิจกรรมปรับโครงสร้างหนี้ปรับแผนธุรกิจกันภายในงาน
“กฎหมายฉบับนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา และ นิติบุคคลที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ กล่าวคือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูแล้วเจ้าหนี้อื่นจะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่มเพื่อ SMEs ไปดำเนินธุรกิจต่อจะสามารถทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวเจ้าหนี้ที่เหลืออยู่มาฟ้อง ในส่วนของ SMEs กลุ่ม Turn Around ที่มาเข้าโครงการของ สสว. จะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก สสว. จะประสานงานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟูและมีโอกาสสูงมากที่จะมากู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว.” นางสาลินีกล่าว
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี(ที่3จากซ้าย) กล่าวถึงรายละเอียด พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่ กรมบังคับคดีได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีผลใช้บังคับวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เพื่อเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SMEs จะได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ตามข้อมูล สสว. โดยดูจากงบการเงินปีล่าสุดคือ ปี 2557 ของ SMEs ประมาณ 4.2 แสนรายนั้น พบว่า 70 % แสดงหนี้สินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และมีSMEs ที่มีหนี้สินอยู่ในช่วง 3-10 ล้านบาท มีอยู่ 12 % หรือประมาณ 51,000 ราย ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเพิ่มขึ้นแล้วพบว่า SMEs ที่มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งน่าจะเป็น SMEs ที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีจำนวนประมาณ 7,400 ราย อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและมียอดหนี้ไม่ต่ำกว่าสามล้านบาทก็ยังน่าจะมีอยู่อีกจำนวนหนึ่งโดยในส่วนของ ธพว. มีลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยจำนวนมาก และจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 568 ราย มียอดหนี้สินรวม 2,403 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผอ.สสว.ยังเปิดเผยอีกว่า สิ้นปี 2558 มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จดทะเบียนเป็นเอสเอ็มอีมีจำนวน 2,765,986 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 29,242 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคล 23,130 ราย และเป็นวิสาหกิจชุมชน 6,112 ราย
ในส่วนของนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคการบริการ 12,576 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคาร เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มภาคการค้า 7,498 ราย และในกลุ่มภาคการผลิต 3,056 ราย ซึ่งเป็นในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ และธุรกิจผลิตอาหาร เป็นส่วนใหญ่