ไทยเจ้าภาพเวทีสาธารณะ
บริหารจัดการภาคเกษตรโลก
สถาบันคลังสมองของชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Institute of Farm Economics ประเทศเยอรมนี จัดประชุมวิชาการ Cash Crop Conference 2016 กิจกรรมประจำปีของกลุ่มเครือข่าย 36 องค์กร จาก 40 ประเทศ ที่มาจากภูมิภาค อเมริกาเหนือ-ใต้ แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และ ยุโรป ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านพืชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เกษตร นโยบายเกษตร และการจัดการธุรกิจฟาร์ม ฯลฯ มารวมตัวกัน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาธร กรุงเทพฯ
เวทีสาธารณะครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านการผลิต การตลาด ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยด้านพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ จากภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในส่วนของเวทีสาธารณะ Global Forum วันที่ 30 มิถุนายน ที่ทาง สกว.ให้การสนับสนุนนั้นมีการบรรยายภายใต้หัวข้อ “Global Perspectives of Thai Agriculture” โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจและนักวิชาการฝ่ายไทย ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ ผู้ประสานงาน งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย” สกว. และนักวิชาการอาวุโส จากสถาบันคลังสมองชาติ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่พูดคุยกันตลอดการจัดงานตั้งแต่วันที่ 26 – 30 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ เรื่องของการจัดการไร่นา สินค้าเกษตรในตลาดโลก ทั้งข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการ Tracking ดูว่า 1.สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ควรปรับปรุงพัฒนาไปในทิศทางใด
2.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การผลิต เพราะอย่างประเทศอเมริกานั้น มีการใช้ GPS และโดรน เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการจัดการฟาร์ม 3.การเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต เช่นเรื่องของน้ำตาล น้ำตาลของไทยที่ทำจากอ้อย กับน้ำตาลของยุโรปที่ทำจากบีท ต่างกันมากน้อยอย่างไร ในอนาคตจะมีการแข่งขันมากน้อยเพียงใด สำหรับเรื่องข้าว ปัจจุบันประเทศในแถบแอฟริกา เริ่มหันมาปลูกข้าวกันมากขึ้น มีการพูดคุยเพื่อเปรียเทียบกับข้าวทางฝั่งบ้านเรา หรือข้าวโพดในเอเชียที่ปลูกมากที่เวียดนาม
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในประเด็น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ว่าจะกระทบกับผลผลิตหรือไม่ การเกษตรทั่วโลกต้องมีการปรับตัวมากน้อยอย่างไร และในส่วนของ เวที Global Forum มีการบรรยาย ในหัวข้อการเปรียบเทียบสินค้าเกษตรทั้ง ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และน้ำตาล ของประเทศในแถบยุโรป แอฟริกาใต้ บราซิล รวมถึงไทย เพื่อให้ทราบว่า แท้จริงแล้วประเทศผู้ผลิตใด มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบมากกว่ากัน