มาตรการรัฐช่วยSMEsหนุน
บสย.ยอด6ด.ค้ำเงินกู้4.8หมื่นล.
บสย.โชว์6เดือนปิดยอดค้ำประกันที่ 48,000 ล้านบาท ผลจากมาตรการรัฐดันยอดค้ำประกันพุ่ง โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 17,000 ราย นอกจากนี้บสย.ยังทำงานเชิงรุกเพิ่ม ขับเคลื่อนโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ โครงการความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตร ต้นเดือนสิงหาคมนี้เตรียมเซ็นMOUกับธนาคารพันธมิตรร่วมค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของ บสย. ในรอบ 6 เดือน (1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 2559) ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทั้ง 11 สาขา โดยมีการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อรวมวงเงินกว่า 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2558 คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการได้รับกว่า 65,000 ล้านบาท และสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 17,000 ราย
ความต้องการสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา โดย 5 สาขา ที่มีการอนุมัติค้ำประกันสูงสุด ทั้งจำนวนราย และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่ 1.สาขากรุงเทพ จำนวน 6,565 ราย วงเงิน 19,000 ล้านบาท 2.สาขาชลบุรี จำนวน 1,450 ราย วงเงิน 4,200 ล้านบาท 3.สาขาสงขลา จำนวน 1,353 ราย วงเงิน 3,200 ล้านบาท 4.สาขาเชียงใหม่ จำนวน 1,255 ราย วงเงิน 4,000 ล้านบาท 5.สาขาอุดรธานี จำนวน 1,200 ราย วงเงิน 3,100 ล้านบาท
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs และธนาคารพันธมิตร ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 (ปรับปรุงใหม่) สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อจำนวน 10,999 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 38,700 ล้านบาท โครงการ Policy Loan ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2,400 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 6,900 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) สามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 3,500 ราย วงเงินค้ำประกัน 400 ล้านบาท
นายนิธิศ กล่าวว่า ผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.มาตรการรัฐบาล ในการกระตุ้น ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยมีการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เต็มที่ ถึง 3 โครงการ คือ 1)ขยายเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 ปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้รับการอนุมัติวงเงินค้ำประกัน สินเชื่อจากรัฐบาล จำนวน 1 แสนล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็น 31 ธันวาคม 2559 โดยขณะนี้ยังมีวงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าวงเงินจะหมดภายในเดือนกันยายนนี้
2)โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneurs) วงเงิน 13,500 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และ3)โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคมที่ผ่านมา
2.การทำงานภายใต้กลยุทธ์เชิงรุกของ บสย. ขับเคลื่อนโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ และโครงการความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน การลงทุนพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ บสย. จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรม ต่อเนื่องด้วยการจัดกิจกรรมเชิงรุกกับพันธมิตรต่างๆ อาทิ สมาคมแฟรนไชส์, สมาคมธนาคารไทย และกลุ่มธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และธนาคาร เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ ผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรมมากขึ้น
สำหรับแผนงานครึ่งปีหลังของ บสย. ในส่วนสายงานธุรกิจ มีการกำหนด 2 แนวทาง โดยจะจัดทำแผนกระตุ้นการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจ ปี 2559 คิดเป็นยอดค้ำประกัน 85,000 ล้านบาท ภายใต้กลยุทธ์เชิงรุกครบทุกมิติ ทั้งส่วนกิจการสาขา การตลาด พร้อมปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสอดรับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs และธนาคารพันธมิตร โดยมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง บสย. ธนาคาร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโครงการค้ำประกันต่างๆ ให้มากขึ้น
และจัดทำแผนงานยุทธศาสตร์เชิงรุก รองรับมาตรการใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้มีหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ การปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อเปิดกว้างให้ บสย. สามารถค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่ม Non Bank ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น