ก.อุตฯจูง13องค์กรเปิด3,800จุด
ศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วไทย
ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เมื่อเร็ว ๆนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งนายสมคิดกล่าวว่า เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการผลักดันนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยยังมีอีกหลายมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่26กรกฎาคมนี้ เพื่อให้เห็นชอบกองทุนวงเงิน 2 พันล้านบาทสำหรับใช้เติมทุนหรือเพิ่มทุนให้กับผู้ประกอบการ
หลังรู้ปัญหาหลักของเอสเอ็มอี คือ ประเด็นของหนี้สินและทุนน้อยทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกองทุนนี้จะเข้ามาเติมทุนให้
นอกจากนี้จะมีการเสนอโครงการพี่ช่วยน้อง เปิดโอกาสให้บริษัทใหญ่ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ทั้งในด้านของการศึกษาวิจัย หรือสนับสนุนงบประมาณบริหารจัดการ หากนำเงินไปช่วยเหลือ ทางรัฐบาลจะมีการลดหย่อนภาษีให้ 2 เท่า โดยกองทุนทั้ง 2 ส่วนนี้คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดินหน้าธุรกิจได้ง่ายขึ้น
นายสมคิดยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารออมสินและธนาคารของรัฐจะทยอยกันออกแพ็กเกจให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 4% รวมถึงทางสมาคมธนาคารไทยจะช่วยอีก 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 4% เช่นกัน ดังนั้นกลไกศูนย์ตรงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง เป็นตัวช่วยให้เอสเอ็มอีอยู่รอดได้
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ออก พ.ร.บ.ล้มละลายทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยกลับมามีโอกาสฟื้นฟู และบอร์ด สสว.มีมติที่ให้ตั้งกองทุนพลิกฟื้นเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Rescue Center) โดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับ 13 องค์กรหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เปิดศูนย์ฯดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศในทุกด้าน ทั้งการเงิน การตลาด การวางแผนธุรกิจ โดยมีจุดให้บริการรวม 3,800 แห่งทั่วประเทศ มั่นใจจะช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
สำหรับช่องทางที่ผู้ประกอบการจะสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ จะมีทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมบังคับคดี ศูนย์ดำรงธรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาติดต่อผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และให้คำแนะนำ
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อพร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขยายธุรกิจได้มากขึ้น
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า สสว.มีศูนย์บริการครบวงจร หรือศูนย์ OSS ที่มีจำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภายในปี 2559 จะเพิ่มศูนย์บริการครบวงจรให้ได้จำนวน 21 แห่ง รวมถึงมีแผนดึงเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เกษียณอายุ และมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและสินเชื่อ มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการขอสินเชื่อและทำธุรกิจมากที่สุด
ขอบคุณภาพประกอบจาก-เฟซบุ๊กสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย