ปลัดสธ.ดันบริการระบบปฐมภูมิ
เมืองชนบท-รวมสหสาขาวิชา
ปลัดสธ. มอบนโยบายนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาล ผลักดัน “คลินิกหมอครอบครัว” ในเขตเมือง เพิ่มสถานบริการให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ในเขตชนบทเพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานร่วมกับหมออนามัยและทีมสหสาขาวิชาชีพ เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี” บริการแบบองค์รวม ครบทุกมิติ ตั้งเป้าภายใน 10 ปี คนไทยทุกคนมีหมอประจำครอบครัว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสัญจร ครั้งที่ 3/2559 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กว่า 500 คนเข้าร่วมประชุม พร้อมมอบนโยบายการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ “คลินิกหมอครอบครัว” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบให้เร่งรัดพัฒนาระบบบริการ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิ ซึ่งในเขตเมืองการเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปยากลำบาก เนื่องจากมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่ 1-2 แห่ง ที่ให้บริการประชาชน ทั้งบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และรับส่งต่อผู้ป่วยโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนจากเครือข่ายบริการทุกระดับ ทำให้มีความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้เกิดนโยบาย การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ “คลินิกหมอครอบครัว” สำหรับเขตเมืองเกิดขึ้น
สำหรับเขตชนบท ได้เพิ่มบริการด้านการรักษาพยาบาลไปยังบริการปฐมภูมิ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมกันเป็นเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) เพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปเติมเต็ม ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ อาทิ หมออนามัย พยาบาล ทันตาภิบาล เป็นต้น และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนในเขตชนบทได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ที่ให้บริการแบบองค์รวม ครบทุกมิติ เติมเต็มบริการให้ประชาชน ตั้งเป้าภายใน 10 ปี คนไทยทุกคนจะมีหมอประจำครอบครัว ด้วยบริการ “ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”
ทั้งนี้ แผนการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับนโยบาย “คลินิกหมอครอบครัว” นั้น มีการดำเนินการดังนี้ 1.จะร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว การผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โดยใช้ศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นฐานการผลิต โดยเป้าหมายจะสามารถผลิตได้ปีละ 600 คน เป็นแผนระยะกลาง ระยะยาว 2.แผนระยะสั้น จะใช้แพทย์ที่เกษียณอายุราชการ หรือแพทย์ที่สนใจงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มารับการอบรมเพิ่มหลักสูตร 3-6 เดือน 3.สหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ พยาบาล หมออนามัย จะมีหลักสูตรสาขาเวชปฏิบัติครอบครัวให้เข้ารับการอบรม โดยจะปรับให้มีระบบสร้างจูงใจและค่าตอบแทนให้คนคงอยู่ในระบบ
สำหรับบริการทุกคน คือ ประชาชน 10,000 คนของทีมหมอครอบครัว ทั้งคนปกติไม่เจ็บไม่ป่วย คนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต่างๆ คนป่วยแล้ว คนที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ จะได้รับการดูแลทุกคน บริการทุกอย่าง คือการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมด ให้สุขภาพดี ดูแลเมื่อเจ็บป่วย ถ้าจำเป็นก็จะส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น แบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม บริการทุกที่ คือ จะทำงานทั้งในที่ทำการและที่บ้านของประชาชน ด้วยการออกเยี่ยมบ้าน บริการทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี ประชาชนสามารถติดต่อ ปรึกษา ทีมหมอประจำครอบครัวได้ทางโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดีย เมื่อมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก- news.voicetv.co.th