พระเทพฯเสด็จวางศิลาฤกษ์
“พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” อพวช.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พิพิธภัณฑ์ใหม่ของอพวช. ตั้งบนพื้นที่ 42 ไร่ นับว่า ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียและใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก แสดงหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ณ อพวช. เทคโนธานี ปทุมธานี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึงสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เสด็จเข้าภายในพลับพลาพิธี โดยมีนายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
จากนั้นดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาการก่อสร้างอาคารฯ และกราบบังคมทูลเบิกคณะกรรมการจัดงานฯ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก โดยมี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปุทมธานี ข้าราชการ คณะผู้จัดงาน และพสกนิกรชาวจังหวัดปทุมธานี ร่วมเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ ทรงวางพลอยเก้าสี และทรงโปรยดอกไม้ จากนั้นเสด็จไปทอดพระเนตรแบบจำลองอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า และนิทรรศการแมลงชนิดใหม่ของโลก ซึ่งมี 3 ชนิด ถูกค้นพบโดยนักวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้แก่ มดทหารเทพา (Aenictus shilintongae Jaitrong et Tad) ตั๊กแตนคูหารัตน์ (Mimadiestra sirindhornae Dawwrueng, Storozhenko et Artchawakom) และผีเสื้อรัตติสิริน (Eucosmogastra sirindhornaePinkaew et Laeprathom) ซึ่งทั้ง 3 ชื่อนี้ได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์แล้วในวารสาร “The Thailand Natural History Museum Journal” อันเป็นวารสารด้านธรรมชาติวิทยาระดับสากล จากนั้นเวลา 10.30 น. โดยประมาณ ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับ “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Rama IX Ecology Museum” จะสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 42 ไร่ หรือ 30,000 ตารางเมตร ของ อพวช. ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งเดียวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่เดิม โดยจะอยู่ในบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับสระเก็บน้ำพระรามเก้า ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริด้านบริหารจัดการน้ำ
ด้วยอาณาบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่ “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” จึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียและใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่จะจัดสร้างเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2550 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557
ในการดำเนินการก่อสร้างภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอ คือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ อันเป็นการแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของปวงชนชาวไทยและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นทั้งพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย, พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย และได้รับการถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” พระองค์แรกของโลก จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้ง การจัดแสดงระบบนิเวศของไทยและของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ อพวช. จะเป็นศูนย์กลางในการจัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก