สธ.ส่งทีมเยียวยาผู้ประสบเหตุ
ป้องกันบาดแผลทางใจระยะยาว
กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิต ปฐมพยาบาลจิตใจ สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปป้องกันการเกิดบาดแผลทางจิตใจในระยะยาว ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ยังนอนรักษาในโรงพยาบาล 16 คน เป็นคนไทย 10 คน ต่างชาติ 6 คน อยู่ในความดูแลแพทย์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเป็นพิเศษครอบครัวผู้สูญเสียเพราะเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า แนะยึดหลัก 4 อย่า คือ อย่าจมอยู่กับชีวิตคนเดียว อย่าเก็บความรู้สึกไว้คนเดียว อย่าโทษตนเองและอย่าดื่มหรือเสพเพื่อให้ลืม
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอกับจังหวัดที่เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ประกอบด้วย ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และระนอง ว่า ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ ทั้งบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ห้องผ่าตัด คลังเลือด ระบบส่งต่อ 2.เฝ้าระวังความปลอดภัยในสถานพยาบาล ตรวจสอบความพร้อมกล้องวงจรปิด ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบสื่อสาร ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายความมั่นคง 3.ในเรื่องค่ารักษาพยาบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย รัฐบาลรับผิดชอบ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เป็นไปตามสิทธิการรักษาที่มีอยู่ ตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี
สำหรับในส่วนกลางได้มีเปิดวอร์รูม เป็นศูนย์สั่งการและประสานข้อมูล โดยมีแพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อม สำหรับกรุงเทพมหานครให้กรมการแพทย์ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ มหาวิทยาลัย กองทัพ เอกชน เตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทีมกู้ชีพชั้นสูง ระบบส่งต่อ รองรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่ยังดูแลสถานการณ์ได้ โดยมีการประสานความช่วยเหลือกันภายในเขตสุขภาพ เช่น หัวหิน จะมีโรงพยาบาลเพชรบุรี โรงพยาบาลราชบุรีเตรียมพร้อมรับการส่งต่อ และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูแล
นายแพทย์โสภณเปิดเผยในช่วงเย็นวันศุกร์(12ส.ค.)ว่า วอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดำเนินการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดและไฟไหม้ ขณะนี้ มีผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวม 16 คน คนไทย 10 คน ต่างชาติ 6 คน โดยนอนพักรักษาในโรงพยาบาลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 9 คน เพชรบุรี 1 คน(ส่งต่อจากโรงพยาบาลหัวหิน) และตรัง 6 คน ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด
โดยกระทรวงสาธารณสุข ให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย (MCATT :Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ลงพื้นที่ดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ที่จังหวัดตรังและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิต ปฐมพยาบาลจิตใจ ให้กำลังใจ เยียวยาจิตใจและให้การปรึกษาลดภาวะความเครียด สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ป้องกันการเกิดบาดแผลทางจิตใจในระยะยาว
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดูแลในครั้งนี้แบ่งเป็น 3กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติ และชาวต่างประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่สาธารณะ และเป็นการกระทำของมนุษย์ ส่งผลกระทบด้านจิตใจสูงกว่าเหตุที่มาจากภัยธรรมชาติ ผู้ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์จะเกิดอาการวิตกกังวล ใจสั่น นอนไม่หลับ หวาดระแวง ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ตกใจง่าย การปรับตัวของผู้ได้รับผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามสภาพจิตใจ และประสบการณ์เดิม อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 1 เดือน
ส่วนครอบครัวผู้สูญเสีย ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ วิธีก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้น ขอให้ยึดหลัก 4 อย่า คือ 1.อย่า จมอยู่กับชีวิตตนเองคนเดียว ยอมรับความสูญเสียและอยู่กับความจริงในปัจจุบันให้ได้ อาจจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้ระยะเวลา 2.อย่า เก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้คนเดียว อาจร้องไห้ และพูดระบายความทุกข์ให้คนใกล้ชิดที่ไว้ใจรับฟังบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย 3.อย่า โทษตนเองหรือคนอื่น เพราะไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น และ4.อย่า ดื่มเหล้าหรือเสพสารเสพติดเพื่อช่วยลืมความเจ็บปวด ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ ในชุมชนหรือสังคม
ทั้งนี้ หากไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้หรือมีอาการซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป หรือโทรรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ญาติและครอบครัวถือเป็นบุคคลที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยาและประคับประคองจิตใจผู้สูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ด้วยการรับฟัง ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนสื่อมวลชน สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดยเลือกใช้คำถามในการสัมภาษณ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก