เปิดฉาก ‘มหกรรรมวิจัยแห่งชาติ’
วช.-เครือข่ายวิจัยโชว์600ผลงาน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด “มหกรรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 ” หรือ “Thailand Research Expo 2016” และการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 อย่างเป็นทางการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติเปิดงานภาคการประชุม จัดทัพกว่า 600 ผลงานวิจัยโชว์ถึง 21 ส.ค.2559
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นปีที่ 11 ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชนและพาณิชย์ อุตสาหกรรม
สำหรับในปี 2559 นี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และเพื่อเป็นการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” โดยมีน้องปัญญา เป็น Mascot ของงาน
กิจกรรมในงานมีส่วนการแสดงนิทรรศการและการประชุมและสัมมนาในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ โดยมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานวิจัยเชิงศิลปะ นิทรรศการผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ นิทรรศการผลิตผลองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชน สังคม รวมทั้งนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา รวมกว่า 600 ผลงานใน 9 กลุ่มเรื่องวิจัย ได้แก่ 1)การวิจัยเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร 2)งานวิจัยเพื่อพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3)งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม 4)งานวิจัยเพื่อสร้างธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5)งานวิจัยเพื่อสุขภาพ การแพทย์ สังคมผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส 6)งานวิจัยเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม การศึกษา 7)งานวิจัยเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการพัฒนาชุมชน 8)การวิจัยเพื่อความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและ9)งานวิจัยเพื่อรองรับการสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน
งานวิจัยที่น่าสนใจอาทิ การพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มสำหรับทอดอาหารโดยใช้สมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์บริการ ,โคพันธุ์โคราชวากิว ให้เนื้อนุ่ม ไขมันแทรกสูง เพิ่มกำไรให้เกษตรกร ผลงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,ผลงานการพัฒนาคอมพาวน์ของ PLA สำหรับหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร,ผลงานนวัตกรรมฝังในช่วยฟื้นฟูกระดูก ลดการนำเข้าอุปกรณ์เชื่อมต่อกระดูกจากต่างประเทศ ซึ่งผลงานนี้ยังสามารถปรับให้ใช้ได้ดีกับการเชื่อมต่อชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงานเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยพืชสมุนไพร โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวเพื่อรักษาคุณภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และอื่น ๆ อีกมากมาย
พิธีเปิดงานภาคการประชุมตอนเช้า
สำหรับการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-จีน ปัจจุบันสู่อนาคต” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ถึง 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2559 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการไทยและจีนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยระหว่างกัน โดยมีการนำเสนอภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีน ภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเด็นรถไฟไทย-จีนและการเชื่อมโยง และประเด็นความมั่นคง
นอกเหนือจากงานนิทรรศการและการประชุมสัมมนายังมีร้านค้าในโครงการพระราชดำริและอื่นๆ ร่วมนำสินค้ามาเสนอราคาพิเศษ ภาพรวมบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีเหล่านักวิชาการ นักวิจัยแล้ว ยังมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าชมงาน