สภาเภสัชกรรมขานรับต่อนโยบายที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เห็นชอบแล้ว โดยเสนอให้ปฏิรูประบบการแพทย์แผนไทยและระบบยาสมุนไพรแห่งชาติ ให้มีมาตรฐานคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรที่มีการวิจัยรองรับทดแทนยาแผนปัจจุบัน และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย
โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ทางสภาเภสัชกรรมได้มีมติเห็นชอบต่อบทบาทของเภสัชกรด้านสมุนไพรในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจะเริ่มฝึกอบรมความรู้และทักษะเพิ่มเติมให้แก่เภสัชกรในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเดือนตุลาคม 2559 นี้
รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า “เภสัชกรที่อยู่ในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณาสุขจังหวัดนั้น มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาให้มียาจากสมุนไพรใช้ในระบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยการต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม เพื่อให้มียาจากสมุนไพรที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ภูมิปัญญาไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
แม้ในปัจจุบันจะมีแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพทางด้านสุขภาพเข้ามามีบทบาทในการดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนแล้ว แต่เภสัชกรและแพทย์แผนไทยก็ยังจำเป็นจับมือทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการใช้ยาจากสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีแพทย์แผนไทยเป็นหัวหน้ากลุ่มงาน และมีทีมแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรทำงานร่วมกัน เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาจากสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วย การผลิตยาจากสมุนไพรนั้นก็ทำงานร่วมกัน ถ้าเป็นการผลิตยาในรูปแบบสมัยใหม่ก็ให้เภสัชกรดูแล ส่วนยาตำรับหรือยาเฉพาะรายก็เตรียมโดยแพทย์แผนไทย การควบคุมคุณภาพตำรับก็ทำร่วมกันโดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้บนฐานขององค์ความรู้ดั้งเดิม ซึ่งเป็นบรรยากาศการทำงานที่ดี
การนำจุดแข็งของแต่ละศาสตร์มาใช้ร่วมกัน จะทำให้การพัฒนาการแพทย์แผนไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาการแพทย์ดั้งเดิมจนเข้มแข็งแล้ว เช่น จีน อินเดีย โดยการทำงานของเภสัชกรสมุนไพรนั้น จะไปเสริมการทำงานของการแพทย์แขนงต่าง ๆ ไม่เพียงเฉพาะการแพทย์แผนไทยเท่านั้น โดยใช้จุดแข็งของเภสัชกรในเรื่องการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาพัฒนาการแพทย์แผนจีน หรือการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ที่กำลังจะมีการมีการใช้อย่างกว้างขวางในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกวิชาชีพทางการแพทย์”