“อภัยภูเบศร” รุกเวชสำอาง
ชูผลิตภัณฑ์ “ผักเบี้ย” ดูแลฝ้า
ปัจจุบันผู้คนต่างให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพอนามัย การเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ในปี 2558 เครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ดังในปี 2558 มีมูลค่านำเข้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท
ถึงแม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าการส่งออก แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นสินค้าแฟชั่น ที่ได้รับกระแสความนิยมมาจากดาราต่างชาติ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ดังนั้น การพัฒนาเครื่องสำอางเพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยสนับสนุน
ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีการเสนอว่า ภาครัฐควรส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางจากภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างดุลการค้าด้านบวก ช่วยลดนำเข้า
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้แทนกรรมการบริหารของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “การพัฒนาเครื่องสำอางจากสมุนไพรที่ผ่านมา เราได้นำภูมิปัญญาสมุนไพรไทยมาใช้เป็นฐานในการพัฒนา ประกอบกับค้นคว้าการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยนั้นๆ
จากการทำงานกว่า 20 ปี เราค้นพบสิทธิบัตรของสมุนไพรไทยที่ถูกจดโดยต่างชาติแล้วมากกว่า 100 ฉบับ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และมีศักยภาพที่สามารถมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มีสมุนไพรที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางหรือที่เรียกว่า เวชสำอางค์ได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง “ฝ้า” ที่นับเป็นปัญหาของหญิงไทย ซึ่งสมุนไพรบางชนิดมีงานวิจัยและสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว อย่างเช่น มะขามป้อม ใบฝรั่ง หัวกลอย มะหวด ดู่ท่ง ตาลเดี่ยว เมล็ดบานเย็น และผักเบี้ยใหญ่
หรือกระแสของเวชสำอาง หรือ Cosmeceuticals ที่รวบรวมคุณสมบัติของเครื่องสำอางกับยาไว้ด้วยกันนั้น ก็มีสมุนไพรที่น่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นเวชสำอางต่อได้ เช่น อัญชัน ขมิ้นชัน บัวบก รางจืด ว่านหางจระเข้ ดาวเรือง ความรู้เหล่านี้ เรารวบรวมไว้ในหนังสือบันทึกแผ่นดิน 9 สมุนไพรในภาวะโลกร้อน ที่แจกจ่ายให้กับประชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจฟรีวันละ 200 เล่มในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2559 อิมแพ็คเมืองทองธานี อาคาร 6-8
เราหวังว่าองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่บันทึกในหนังสือจะจุดประกายให้ผู้ประกอบการหรือภาครัฐ นำสมุนไพรไทยไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอางและเวชสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯยังนำผลิตภัณฑ์เวชสำอางหลายอย่างมาโชว์ พร้อมกิจกรรมอีกหลายอย่างบริการประชาชน ทั้งบริการตรวจโรค นวดแผนไทย เสวนาเรื่องสมุนไพรและเวชสำอาง
สำหรับ “ผักเบี้ยใหญ่” เป็นไม้ล้มลุก ที่คนในชนบทมักนิยมนำมาทานจิ้มน้ำพริก หรือทำน้ำบูดู หรือทำแกงส้ม ซึ่งการคิดค้นพบว่า ผักเบี้ยใหญ่ มีสรรพคุณมากมายอาทิ เช่น บำรุงผิว แก้ร้อนใน รักษาโรคสะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ ผิวหนัง ยารักษามะเร็ง แก้ไข้ในเด็ก แก้ตัวร้อน
มีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ ในเรื่องของการป้องกันแสงแดด การโบท็อก ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หน้าเต่งตึงโดยไม่ต้องฉีดโบท็อก ทำให้หน้าผุดผ่อง ชุ่มชื้น รวมทั้งแก้แพ้ นอกจากนี้ผักเบี้ยยังมีโอมีก้า 3 ช่วยบำรุงสมอง บำรุงไขข้อ ทำให้ตาไม่แห้ง เป็นอาหารเสริมสุขภาพที่ดี รวมทั้งมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็งอีกหลายชนิด
ภายในงานมหกรรมสมุนไพรนำผลิตภัณฑ์เวชสำอางจาก “ผักเบี้ยใหญ่” มานำเสนอหลายอย่าง อาทิ โลชั่นทาผิวสำหรับผวบอบบาง แพ้ง่าย ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวตอนกลางคืน มาส์กโคลนธรรมชาติช่วยดูดซับความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกที่ตกค้างบนผิวออก เจลฟื้นฟูผิวที่โดนแสงแดดและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเครื่องสำอาง เป็นต้น
นอกจากนี้ภายงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยายังมีการนำเสนอผลการวิจัย “ยาตำรับกลีบบัวแดง” ซึ่งเป็นตำรับพื้นบ้าน ใช้สำหรับบำรุงสมอง ที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการรวบรวมองค์ความรู้การใช้จากหมอยาทั่วทุกภาคของประเทศ