‘ชีวเภสัชภัณฑ์’ เทรนด์บำบัดโรค
TCELSมุ่งวิจัยยาให้คนเอเชีย
วท.หนุนเทคโนโลยีบำบัดโรคแนวใหม่มุ่งสู่การใช้ยาชีวเภสัชภัณฑ์เป็นเทรนด์โลก รองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับไทยที่ทำให้มีภาระด้านสุขภาพเพิ่ม เปลี่ยนจากโรคติดเชื้อมาเป็นโรคไม่ติดต่อ ระบุไทยต้องวางรากฐานการวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ทำให้ต้นทุนในการผลิตยาต่ำลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สบช่องมองตลาดอาเซียน ชี้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ 600 ล้านคน TCELS เดินหน้าวิจัยรักษาโรคเฉพาะบุคคล วิจัยยาที่เหมาะสมกับพันธุกรรมชาวเอเชีย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานงานประชุมสุดยอดผู้นำด้านชีวเภสัชภัณฑ์ ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ความร่วมมือของกระทรวงวิทย์ฯ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สมาคมผู้วิจัยและเภสัชภัณฑ์ (PReMA) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และผู้นำองค์กรเกี่ยวข้องกับการวิจัยของประเทศ
คือ ปัญหาท้าทายไทย กล่าวว่า หนึ่งในมิติสำคัญของสังคมที่ดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้มีประสิทธิภาพ คือ ระบบสาธารณสุข ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบของการการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการบริการของประชาชน
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากข้อมูลของ ดีล๊อยท์ ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำวิจัย ระบุไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภาระต่อสุขภาพเปลี่ยนจากโรคติดเชื้อมาเป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ ปัจจุบันยาดั้งเดิมยังไม่สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เทคโนโลยีการบำบัดรักษาโรครุ่นใหม่ ๆ กำลังมุ่งสู่การใช้ยาชีวเภสัชภัณฑ์ กลับเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปได้อีกไกล แต่ปัญหาคือ เวลานี้ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยทางคลินิกในโรคเหล่านี้ยังสูงถึง 75% ของค่าใช้จ่ายในการวิจัยทั้งหมด ทำให้ต้นทุนในการผลิตยาในบ้านเราสูงกว่าในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้แล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคดังกล่าวของคนไทยก็ยังสูงอยู่
ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายในประเทศ จำเป็นที่จะต้องวางรากฐานการวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ทั้งจาก การเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยวิจัยทางคลินิก การลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน ตลอดจนการปรับกฎระเบียบและการรับรองมาตรฐานให้มีความคล่องตัว การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายของผู้นำด้านชีวเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบประชารัฐในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน
ด้านดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ในประเทศไทยว่ายังก้าวไปได้อีกมาก เนื่องจากความพร้อมและศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน หากแต่ที่ผ่านมาการทำวิจัยในประเทศไทยมักจะทำในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการทำต่อจากกลุ่มตัวอย่างพันธุกรรมที่แตกต่างจากคนไทยและกลุ่มประชากรอาเซียนในเฟสแรก ทำให้ก้าวไม่ถึงอุตสาหกรรมยา
ในส่วนของ TCELS เองได้ดำเนินโครงการเภสัชพันธุศาสตร์หรือการรักษาโรคเฉพาะบุคคล ได้ทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วเห็นว่าพันธุกรรมของชาวเอเชียแตกต่างจากพันธุกรรมของกลุ่มประชากรตะวันตก ดังนั้นหากมีการวางโครงสร้างที่จะมารองรับการวิจัยเพื่อการผลิตยาใหม่ให้เข้ากับพันธุกรรมของชาวเอเซีย จะเพิ่มคุณภาพและความเข้มข้นของการวิจัยมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดที่จะรองรับอุตสาหกรรมยาก็จะเป็นตลาดของอาเซียนที่มีประชากรรวม 600 ล้านคน