สธ.มั่นใจ “ซิกา” ไม่ระบาดใหญ่
แนะแม่ตั้งครรภ์เข้มป้องกันยุงกัด
กระทรวงวิทย์ฯ สวทช. โดย โปรแกรมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ จัดเวทีเสวนา เรื่อง: “Zika…ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์” ผู้เชี่ยวชาญชี้ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกลัว ปัจจุบันความเสี่ยงจากไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่มีมากกว่าไวรัสซิกา แต่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังตัวป้องกันยุงกัด หรือหากเตรียมตั้งครรภ์ต้องศึกษาข้อมูล สธ.มั่นใจไทยไม่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสซิกา เชื่อคุมได้โดยรัฐผนึกภาคประชาชน ส่วนโอกาสพัฒนาวัคซีนสู้ซิกาใกล้ความจริง หลังพบกลไกภูมิคุ้มกันคล้ายกำจัดไวรัสไข้เลือดออก
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสร่วมให้ข้อมูลในการเสวนา “Zika…ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์” ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่โปรแกรมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงภัยอันตรายของไวรัส Zika โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่มีแผนจะตั้งครรภ์ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสซิกา เพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบของไวรัสซิกา ซึ่งอาจมีผลต่อสมองของทารกในครรภ์ได้
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชนิดและพาหะของตัวนำโรค เช่น ยุง และแมลงพาหะต่างๆ อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลทำให้แมลงพาหะเกิดการการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งในปัจจุบันโลกไร้พรมแดนการคมนาคมเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การกระจายตัวของเชื้อโรคต่างๆ จึงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผ่านมาได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรและกระทรวงสาธารณสุข ในการรับมือกับโรคไข้หวัดนก H5N1, ไข้หวัดใหญ่ H1N12009, ไข้หวัดใหญ่ H7N9, อีโบล่า และ MERS-CoV โดยการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยในทุกโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีการระบาด ตลอดจนมีการให้ทุน สร้างองค์ความรู้ในหลายมิติ รวมทั้งเรื่องยาตัวเลือกและสมุนไพรเพื่อการเตรียมพร้อมในภาวะฉุกเฉิน
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสำหรับโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน พบการระบาดของไวรัสซิกาในแถบทวีปอเมริกาใต้ เช่น ประเทศบราซิล และโคลัมเบีย รวมถึงในสถานการณ์ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสซิกาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานเสวนานี้จึงจัดขึ้น
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สวทช. สรุปภาพรวมสถานการณ์ไวรัสซิกาของประเทศไทยว่า ในขณะนี้ยุโรปได้จัดไทยอยู่ในประเทศสีแดงที่ถือว่า ยังมีการระบาดของไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะอยู่ โดยให้คิดว่า มีการระบาดอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ จึงทำให้สามารถตรวจพบได้ยาก มั่นใจว่า จะไม่เกิดการระบาดใหญ่และเชื่อว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยที่มีกลไกการเฝ้าระวัง กำกับดูแลที่เข้มแข็งจะสามารถควบคุมได้หลังจากต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำมามากมาย
อย่างไรก็ตามศ.นพ.ประเสริฐกล่าวว่า สธ.ไม่ได้ประมาท โดยต้องอาศัยการร่วมมือป้องกันภัยจากไวรัสซิการะหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เนื่องจากยุงมีอยู่ทั่วไปในทุกบ้าน ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกลัวไวรัสซิกาจนเกินเหตุเพราะความเสี่ยงจากไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่มีมากกว่า
แต่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังตัวป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดอย่างเข้มข้น และต้องรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดงเพราะอาการของโรคนี้คล้ายไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์มีภาวะศีรษะลีบ แขนขาอ่อนแรง จากการที่เชื้อไวรัสซิกาไปเจริญอยู่ในสมอง โดยแพทย์สามารถตรวจพบได้อย่างชัดเจนในอายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์และสามารถทำแท้งได้ ถ้าเกินกว่านี้ไม่สามารถทำแท้งได้
ส่วนหญิงที่เตรียมจะตั้งครรภ์ต้องศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ศ.นพ.ประเสริฐได้แนะให้สวทช.ออกผลิตภัณฑ์โลชั่นเพื่อช่วยป้องกันยุงกัดให้กับประชาชน
ด้านนพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และที่ปรึกษาหน่วยวิจัยโรคไข้เลือดออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลกล่าวอย่างมีความหวังถึงอนาคตที่จะสามารถต่อกรกับเชื้อไวรัสซิกาได้ โดยระบุว่า ทีมงานในประเทศและต่างประเทศเริ่มมองเห็นกลไกของระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถฆ่าไวรัสเด็งกี่และซิกาได้ชัดขึ้น โดยจากการศึกษาคนไข้พบกลไกที่สัมพันธ์กับการสร้างวัคซีนที่ไม่อันตรายในอนาคต รวมถึงการต่อยอดพัฒนายารักษา
“วัคซีนไข้เลือดออกจะใกล้ชิดกับซิกามาก หรือกล่าวได้ว่า บทเรียนวัคซีนไข้เลือดออกใกล้ซิกา ถ้าสามารถทำวัคซีนไข้เลือดออกได้ดี ก็จะสามารถสร้างวัคซีนซิกาที่ดีได้ด้วย”