ชูเหมืองโพแทชคู่เหมืองสีเขียว
ลดนำเข้า-เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยถูก
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตฯ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงฯและอธิบดีกพร. เยี่ยมชมความคืบหน้า “โครงการเหมืองแร่โพแทช” ไทยคาลิ จ.นครราชสีมา เหมืองแห่งแรกที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนดินและอุโมงค์ใต้ดินแนวลาดเพื่อลำเลียงผลผลิตและอุโมงค์แนวดิ่งเพื่อระบายอากาศ คาดสามารถผลิตแร่โพแทชได้ในสิ้นปี 2560 กำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี ช่วยทดแทนการนำเข้าปุ๋ยโพแทชได้กว่า 700,000 ตันต่อปีและช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยถูกลง 20-25% ด้านกพร.คุมเข้มนโยบาย “เหมืองแร่สีเขียว”
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้า “โครงการเหมืองแร่โพแทช” เมื่อเร็ว ๆนี้ ได้แก่ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ที่ต้องดำเนินการภายใต้เกณฑ์ความปลอดภัยต่อคนทำงาน สิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเข้มงวดของกพร.ตามนโยบาย “เหมืองแร่สีเขียว” พร้อมเยี่ยม “เหมืองศิลาสากลพัฒนา” ที่ได้ตำแหน่ง “ต้นแบบเหมืองแร่สีเขียว” มายาวนาน
ทั้งนี้ “โครงการเหมืองแร่โพแทช” บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เหมืองแห่งแรกที่มีการดำเนินการโดยได้รับอนุญาตประทานทำบัตรเหมืองแร่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 บนพื้นที่ 9,005 ไร่ เป็นโครงการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังผลิต 100,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ในสิ้นปี2560 นี้
ส่วนอีกโครงการที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ในปีเดียวกัน 6 กุมภาพันธ์ 2558 ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ บนพื้นที่ 9,708 ไร่ งบประมาณลงทุน 5,9633 ล้านบาท มีกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,420 ล้านบาทต่อปี ทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างเหมืองแร่โพแทชใต้ดินแบบห้องสลับค้ำยัน (Room and Pillar)
ทั้ง 2 โครงการเหมืองแร่โพแทชนี้คาดว่า จะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทชได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ด้วยกำลังการผลิตแร่โพแทช 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะสามารถทดแทนการนำเข้าปุ๋ยโพแทชได้กว่า 700,000 ตันต่อปี ช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยถูกลงร้อยละ 20-25 ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของไทย ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกและกำลังก้าวสู่การเป็นครัวของโลก โดยไทยมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรประมาณ 105 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.7 ของพื้นที่ทั้งหมด จึงมีการนำเข้าปุ๋ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้แร่โพแทชส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นได้อีก เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อีกทางหนึ่ง และหากไทยเป็นแหล่งผลิตแร่โพแทชในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้มีอำนาจต่อรองในการจัดหาปุ๋ยฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตฯ กล่าวว่า บริษัท ไทยคาลิ มีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีเสาหินค้ำยันเพื่อป้องกันดินทรุดหรือถล่ม ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัยใช้กันในต่างประเทศ
ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากโครงการเหมืองแร่โพแทช นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีค่าภาคหลวงแร่เป็นเงินประมาณ16,600 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการโดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 6,640 ล้านบาท และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9,960 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะแบ่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตร 3,320 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประทานบัตร 1,660 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดอื่น 1,660 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีรายได้จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐประมาณ 3,400 ล้านบาทและมีการจัดให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท กองทุนสุขภาพของประชาชน 57.5 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 325 ล้านบาท
ขณะเดียวกันทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ยโพแทชราคาถูกเพื่อเกษตรกรไทย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่ างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูงราคาถูกตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลด้วย
นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยคาลิ ยืนยันว่า จะดูแลประกอบการตามเงื่อนไขและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้เป็นเหมืองสีเขียวตามนโยบายของกระทรวงอุตฯ มุ่งสร้างเสริมความเข้าใจอันดีกับชุมชน มีผู้เชี่ยวชาญและมีเครื่องมือทันสมัยดูแล ป้องกันการปนเปื้อนและการแพร่กระจายในอากาศและแหล่งน้ำ โดยเกลือจะไม่มีการออกมากองข้างนอก ขนส่งเสร็จแล้วนำหางแร่กลับเข้าเหมือง ไม่มีน้ำเกลือออกมานอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีบ่อพักน้ำ คันดินและปลูกต้นไม้
สำหรับผู้ประกอบการอีกรายที่ยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชเพิ่ม คือ บริษัท เอเซีย แปซิฟิคโปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดอุดรธานี โดยยื่นคำขอประทานบัตรรวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 36,000 ล้านบาท มีแผนการผลิ ตปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี จากปริมาณสำรองแร่ที่สำรวจพบประมาณ 267 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอประทานบัตรดังกล่าว
นอกจากนี้ยังเดินทางเยี่ยม “เหมืองศิลาสากลพัฒนา” ซึ่งเป็น “ต้นแบบเหมืองแร่สีเขียว” ด้วย โดยเป็นเหมืองผลิตและจำหน่ายหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และก่อสร้าง ได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 ถึงปี 2573 เพื่อดำเนินการบนพื้นที่มากกว่า 257 ไร่ มูลค่าการลงทุน 60 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปีคิดเป็นมูลค่าราว 155 ล้านบาทต่อปี ปริมาณผลผลิตตลอดโครงการตั้งแต่ปี 2548 ประมาณการไว้ที่ 2,800 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสำรองหินปูน ณ ปัจจุบันคาดว่ามีประมาณ 12 ล้านเมตริกตัน
นายทวี ทวีสุขเสถียร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทศิลาสากลพัฒนาเปิดเผยว่า เหมืองแห่งนี้ถือเป็นสถานประกอบการระดับกลางที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ อยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งมีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชนโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรตามข้อกำหนดของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟูพื้นที่โดยทำควบคู่กับกิจกรรมการเปิดหน้าเหมือง
มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ผ่านการทำเหมือง มีการจัดสรรพื้นที่โดยรอบแปลงประทานบัตรทางด้านทิศตะวันตกสำหรับปลูกป่าเพื่อเป็นแนวกันฝุ่นและเสียง จำนวน 700 ไร่และมีการเว้นพื้นที่ประทานบัตรด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ Buffer Zone รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่เหมืองแร่และโรงโม่หิน ด้วยการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง