สกว.ชูศักยภาพโลจิสติกส์
ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0
สกว.หนุนติดอาวุธธุรกิจด้วยโลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นักวิจัยชี้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้กับสินค้ามากกว่าลดต้นทุน โดยใช้นวัตกรรมนำทาง เพิ่มขีดความสามารถ การบริหารจัดการเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือตั้งแต่ภายในองค์กรโดยเฉพาะฝ่ายผลิตและการตลาด ระหว่างองค์กร จนถึงระดับนานาชาติ จึงจะสามารถเอาชนะทางธุรกิจ
รศ. ดร.สมยศ เชิญอักษร ที่ปรึกษาสำนักประสานงานวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “โลจิสติกส์กับการขับเคลื่อนประเทศไทย” ในงาน TILOG Logistix ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงบริการด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และโซลูชั่นสู่ความเป็นเลิศ
รศ. ดร.สมยศระบุว่า ในยุคประเทศไทย 4.0 การขับเคลื่อนประเทศให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางนั้นจำเป็นต้องอาศัยการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดีตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการสารสนเทศทั้งข้อมูลสัมพันธ์กับลูกค้าและสินค้าเพื่อให้ชนะการแข่งขันทางธุรกิจที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการจัดการการไหลของโรงงานและกระบวนการทางธุรกิจ และการจัดการทรัพยากรทั้งลูกค้า สินค้า และของเสียต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจ
ปัจจุบันผู้บริโภคมีข้อเรียกร้องอยากได้การตอบสนองที่รวดเร็วและสินค้าหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โลจิสติกส์จึงเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของหน่วยงานในการเพิ่มมูลค่าด้วยการแข่งขันพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา และนับวันจะยิ่งมีเส้นทางโลจิสติกส์ที่ยาวมากขึ้นอันเนื่องจากอุปทานของท้องถิ่นและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองถึงการลงทุนที่ต่างประเทศมากขึ้น และนำโลจิสติกส์มาช่วยขับเคลื่อนการส่งมอบสินค้าและบริการ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในปี 2559 ประเทศไทยมีดัชนีสมรรถนะโลจิสติกส์อยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก ตกจากอันดับที่ 35 จากสองปีก่อน โดยในอาเซียนมีสิงคโปร์อยู่อันดับ 1 ของภูมิภาคและอันดับ 5 ของโลก ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับ 2 ของอาเซียนและอันดับ 32 ของโลก
จากข้อมูลของคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท เฉลี่ยร้อยละ 14.2 ของ GDP ประเทศไทย ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของ GDP โลกอยู่ที่ร้อยละ 11.4 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากรวมยอดขายกับการจัดซื้อและการผลิตอาจมีต้นทุนสูงถึงร้อยละ 80
ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (2556-2560) กำหนดให้มีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ดีเพื่อ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน 2) ส่งเสริมธุรกิจการค้าและบริการในพื้นที่เมืองชายแดน 3) พัฒนาบริการขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์4) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า 5) ส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 6) ปรับปรุงระบบการพัฒนาคนและจัดการกำลังคน 7) พัฒนาระบบติดตาม/ประเมินผลเพื่อการปรับปรุงตนเอง
ด้านนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงตัวอย่างงานวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. ในโครงการ “การป้องกันการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารในกระบวนการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน” ว่าตนได้สร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถตรวจสอบการปลอมผลิตภัณฑ์อาหารในระบบห่วงโซ่เพื่อช่วยลดปัญหาการปลอมแปลง
โดยเริ่มในกลุ่มอาหารหลังจากพบว่ามีหลายบริษัทสูญเสียรายได้มหาศาลและภาพลักษณ์ของแบรนด์เนื่องจากการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อาหารฮาลาลและอาหารเสริม ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันการปลอมแปลงมี 3 วิธี ได้แก่ 1. ใช้ระบบมาตรฐานสากล GS 1 บาร์โค้ด Data Matrix พิมพ์บนเอกสารที่บรรจุภายในกล่องสินค้า 2. ใช้รหัสมาตรฐานบาร์โค้ด Data Matrix ร่วมกับการขูดรหัสด้านหน้ากล่องสินค้าซึ่งเป็นหมายเลขรหัสสำหรับดูผลการตรวจสอบ โดยเลขรหัสของแท้จะสามารถตรวจสอบได้เพียงครั้งเดียว และ 3. ติด NFC Tag ที่กล่องสินค้าซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีจากภายนอกก่อนการซื้อสินค้า โดยใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android และ iOS
ขณะที่ รศ. ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ รองคณบดีสำนักทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย สกว. โครงการการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ได้เสนอรูปแบบกิจการที่เหมาะสมที่สุด 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. การเป็นศูนย์กลางการค้าส่งอาเซียน 2. ศูนย์การเรียนรู้และวัฒนธรรมอาเซียนผ่านการท่องเที่ยว 3. อุทยานเทคโนโลยีชีวภาพในด้านการผลิต โดยส่งเสริมสินค้าไทยที่หลากหลายทั้งเอสเอ็มอีและโอท็อป รวมถึงสินค้าในภูมิภาค ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ พื้นที่อำนวยความสะดวกแก่การนำเข้าและส่งออก และการอำนวยความสะดวกในการเจรจาธุรกิจ ให้กับพ่อค้าทั้งจากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีนตอนใต้ และนักท่องเที่ยว โดยมีเขตปลอดอากรและความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรเป็นกลไกขับเคลื่อน
“การทำงานด้านโลจิสติกส์ต้องคำนึงถึงการขับเคลื่อนขีดความสามารถด้านการค้า การผลิต การบริการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า จึงจะสามารถเอาชนะทางธุรกิจได้ คนทำงานโลจิสติกส์เป็นมนุษย์จับฉ่ายที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย แต่จุดอ่อนของธุรกิจไทยมักพบว่าเรามีข้อมูลเยอะมากแต่ไม่สามารถนำมาวางแผนและตัดสินใจได้ จึงต้องมีเครื่องมือช่วย
นอกจากนี้ยังต้องพยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือตั้งแต่ภายในองค์กรโดยเฉพาะฝ่ายผลิตและการตลาด ระหว่างองค์กร จนถึงระดับนานาชาติ อย่ามัวแต่คิดจะลดต้นทุนโลจิสติกส์เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ธุรกิจสมัยใหม่ต้องคิดถึงการสร้างคุณค่า (Value creation) และทำงานอย่างชาญฉลาด หาโอกาสใหม่ ๆ ในการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการค้าปลีกที่กำลังมาแรงและมีสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาทุกช่องทาง จึงอยากฝากให้คนรุ่นใหม่คิดถึงเรื่องนี้ให้มาก”
ส่วน อ.ง่ายงาม ประจวบวัน นักวิจัย สกว. จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง งานวิจัยโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยในภาคการเกษตรว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการยอมรับของผู้ใช้ และเพื่อให้ตอบโจทย์ของประเทศไทย 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็น ‘เกษตรกรรมที่ยั่งยืน’ จะต้องใช้เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ ร่วมกับเกษตรอัจฉริยะ มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตร เพื่อไปสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ นักธุรกิจเกษตร และผู้ประกอบการภาคเกษตร ซึ่งจะทำให้ห่วงโซ่หดตัวมีความกระชับขึ้นโดยต้องเพิ่มทักษะการบริหารจัดการโซ่อุปทานสินค้าเกษตรในระดับฟาร์มให้กับเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรในการเข้าร่วมจัดการและเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทานของตนเองได้มากขึ้น
ทั้งนี้โซ่อุปทานสมัยใหม่จะอาศัยกระแสเคลื่อนย้ายสินค้าของสินค้าเกษตร กระแสเงินทุนและการบริหารความเสี่ยง กระแสของมูลค่าเพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม คนต้นน้ำและปลายน้ำมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ขณะที่คนกลางต้องเป็นมิตรกับผู้ผลิตและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในขณะเดียวกัน