TMBคาดกนง.คงดบ.ถึงปีหน้า
เฟดขึ้นดบ.ไม่กระทบไทยแรง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่จะมีจุดเริ่มต้นในปีนี้ จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าและเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ แต่จะไม่ส่งผลรุนแรงต่อตลาดเงินตลาดทุนไทย เหตุเศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว และมองว่า ธปท.จะยัง “คง” ดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นนี้ไว้ได้อย่างน้อยถึงกลางปีหน้า แนะผู้ประกอบการไทยไม่ประมาท ต้องจับตาทิศทางดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด
แม้ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ระดับ 0.25 – 0.50% แต่มี 3 เสียงไม่เห็นด้วยและมองว่าควรขึ้นดอกเบี้ยเลย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้น 0.25% ในอีกสามเดือนข้างหน้าและมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 0.50% ในปีหน้า นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลให้ต้นทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนมากขึ้นในช่วงท้ายปีและปีหน้าอย่างแน่นอน และสิ่งที่น่าจับตามองที่สุดคือ ธปท. จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้อย่างไร
หลายคนอาจมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยตรง แต่หากมองในมุมดอกเบี้ย การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นเหมือนการจุดประกายให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามในไม่ช้าหรือไม่ ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. 13 ใน 25 ครั้งหลังสุดเป็นการขึ้นหลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยภายในหนึ่งเดือนก่อนหน้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตลาดอาจมองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ยิ่งในปัจจุบันที่ความผันผวนของตลาดการเงินและการดำเนินนโยบายที่สวนทางกันของธนาคารกลางส่งผลกระทบให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสผันผวนรุนแรงในอนาคต
อย่างไรก็ตามศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตที่ดีขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว กอปรกับในทางทฤษฎีเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯปรับตัวขึ้นในขณะที่ดอกเบี้ยไทยยังคงทรงตัว ตราสารหนี้สกุลเงินบาทจึงลดความน่าสนใจลงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนขายตราสารหนี้ไปซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ เงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทอ่อน
ทั้งนี้ พบว่า ก่อนการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดโดยส่วนใหญ่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 1% ในขณะที่หลังการขึ้นดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นราว 0.05% และถ้าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นไปตามคาด เรามองว่า ธปท.จะยัง “คง” ดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นนี้ไว้ได้อย่างน้อยถึงกลางปีหน้าหรือจนกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายไทย
ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการไทยยังไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาทและจับตาทิศทางดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการคาดการณ์ดังกล่าวอาจถูกกระทบด้วยปัจจัยอื่นๆ จนผลลัพธ์กลับสวนทางได้ในภาวะตลาดที่ผันผวน เช่นในปลายปีที่ผ่านมาที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.25% ขณะที่ กนง. คงดอกเบี้ยแต่กลับมีเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ถึง 3.67 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2016 ซึ่งถึงแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอาจยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง แต่การเคลื่อนย้ายเงินทุนเหล่านี้จะส่งผลต่อ ตลาดเงิน ตลาดทุนและค่าเงินบาทจน ธปท. อาจต้องหันกลับมาใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกอีกครั้ง