เนคเทคผนึกกฟผ.พัฒนาระบบ
ตรวจเขื่อนเพิ่มปลอดภัย-เชื่อมั่น
เนคเทค ในสังกัดสวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่งมอบระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน (Dam Safety Remote Monitoring System:DS – RMS) หรือ “ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน” แก่กฟผ. หลังร่วมกันพัฒนามานับแต่ปี 2557 เป็นการนำเทคโนโลยีไอทีและเทคโนโลยีเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนมาใช้เพื่อความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนใหญ่ของกฟผ. 14 เขื่อนทั่วประเทศ เป็นผลงานของคนไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่อยู่รอบเขื่อน อนาคตเสนอติดตั้งในลาวและเมียนมา นำร่องสู่ความปลอดภัยเขื่อนในภูมิภาค
ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน(Dam Safety Remote Monitoring System:DS – RMS) ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันนี้ เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมและสร้างอุปกรณ์ใหม่เสริม พร้อมพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น โดยเดิมได้พัฒนาระบบใช้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าอัตโนมัติของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ที่ช่วยตรวจไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้รู้ตำแหน่งว่าเกิดขึ้นที่จุดใด และนำประสบการณ์จากตรงนั้นมาใช้กับกฟผ.
โดยเริ่มติดตั้งที่เขื่อนรัชชประภาและเขื่อนวชิราลงกรณก่อน จากนั้นขยายเพิ่มอีก 12 เขื่อน รวมเป็น 14 เขื่อนในช่วงปี 2557-2559 เขื่อนที่เพิ่มมาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนน้ำพุง เขื่อนปากมูล เขื่อนของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาและเขื่อนบางลาง
ซึ่งระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจตราเขื่อนได้ตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถตั้งเวลาทำงานได้ตามต้องการ ทีมวิจัยและพัฒนาเชื่อมั่นว่า ระบบจะสามารถตอบสนองต่อการเฝ้าระวังและการตรวจสอบสุขภาพเขื่อนได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปปรับใช้กับเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต นอกจากนี้เนคเทคยังพัฒนาระบบที่คล้ายกันให้การประปานครหลวงใช้เช่นกัน เรียกว่า “ระบบสูบและจ่ายน้ำ” โดยนำร่องใช้แล้วเป็นเวลา 2 ปี
ด้านนายอรรถพร วัฒนวิสุทธิ์ รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน หรือ DS – RMS ได้รับการพัฒนาให้สามารถสื่อสารข้อมูลจากเครื่องมือวัดต่างๆ แบบอัตโนมัติ ทั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน แผ่นดินไหว และน้ำหลาก ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำ ไปยังระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย แล้วนำข้อมูลเข้ามาประมวลผลหาสถานะความปลอดภัยเขื่อนด้วยระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ที่จะช่วยคาดการณ์สาเหตุของความผิดปกติได้ อีกทั้งเป็นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการวิจัยมาใช้สอดพ้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
ทั้งนี้ในการทำงานระบบจะแจ้งสถานะความปลอดภัยเขื่อนผ่านโปรแกรมในรูปแบบ Web Application ทางเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนผ่านทาง SMS และ E-mail ไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติของเขื่อนได้ ทำให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถแจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้บริหาร กฟผ. ได้รับรู้ และสื่อสารให้สาธารณชนได้เข้าใจไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเขื่อนของ กฟผ. ว่ามีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ และช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะฝนตกหนักได้
รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ยังกล่าวด้วยว่า กฟผ. และ เนคเทค ร่วมกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโปรแกรมแสดงผล โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำปรึกษาในการจัดทำเกณฑ์การแจ้งเตือนความปลอดภัยเขื่อน และพัฒนาระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการพิจารณาและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อนของไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นอย่างมีศักยภาพ
“การติดตั้งระบบ DS – RMS กับ 14 เขื่อนใช้งบประมาณทั้งสิ้น 200 ล้านบาท สำหรับเขื่อนขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องติดตั้งเนื่องจากไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและสามารถตรวจตราผ่านระบบเดิมได้”