สกว.หนุนมรภ.นครราชสีมา
พัฒนาข้าวโคราชรับโคราช 4.0
สกว.หนุนเสริม มรภ.นครราชสีมา ระดมสรรพกำลังในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตข้าวโคราชตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ รองรับนโยบายจังหวัด 4.0 และ Thailand 4.0 เน้นการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประกอบการเชิงธุรกิจ
ชี้ระยะแรกสนับสนุน13 โครงการ เน้นไปที่งานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของข้าว การจัดการระบบสารสนเทศท้องถิ่นเพื่อยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัย และขับเคลื่อนสู่การผลิตข้าวทุ่งสัมฤทธิ์สู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์รวมนักวิจัยจากหลากหลายสาขา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.) ตลอดจนภาคีและเครือข่ายการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา จัดงานแถลงข่าว “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตข้าวทุ่งสัมฤทธิ์สู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์ โดยภาคีเครือข่ายการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา” เพื่อยกระดับการดำเนินงาน และการพัฒนางานวิจัยพื้นที่และการบริการ ให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์แผนพัฒนาของจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีเปิดงาน
งานเดียวกันนี้ มีการเสวนาและการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่และงานบริการวิชาการเพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการวิจัยและพัฒนาโคราช 4.0 ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ได้องค์ความรู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค จากการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่และงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาในระยะที่ผ่านมาและสิ่งที่จะดำเนินการต่อในระยะต่อไป ในบทบาทของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์แผนพัฒนาจังหวัด โดยมี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมสังคม สกว. นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายอัสนีย์ เชาว์วาทิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเสวนา และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมสังคม สกว. กล่าวถึงโครงการ“การวิจัยและพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตข้าวที่มีคุณลักษณะเฉพาะและสร้างความมั่นคงทางอาหารในจังหวัดนครราชสีมาตามยุทธศาสตร์ครัวโคราชสู่ครัวโลก” ว่า ทุนสนับสนุนส่วนใหญ่ที่ทาง มรภ.นครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนจากสกว.เป็นกลุ่มทุนวิจัยมุ่งเป้านวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน จึงเน้นการพัฒนา “ข้าว” ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เริ่มจากกระบวนการเพาะปลูก การแปรรูป การจัดจำหน่ายสู่ตลาด การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตและอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวตามห่วงโซ่อุปทานและเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ครัวโคราชสู่ครัวโลก สอดรับกับนโยบายจังหวัด 4.0 ในปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy Development) ของรัฐบาลที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในด้วยการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เติมเต็มองค์ความรู้ การบริหารจัดการ และการสร้างนวัตกรรม
ทั้งนี้ในระยะแรกได้สนับสนุนโครงการวิจัยรวม 13 โครงการ เน้นไปที่งานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของข้าว อาทิ การจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานข้าว จังหวัดนครราชสีมา การพัฒนารูปแบบการจัดการระบบสารสนเทศท้องถิ่นเพื่อยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัย การจัดการความรู้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ที่เหมาะสมของเกษตรกร กระบวนการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนการผลิตข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ การศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพนาโนเพื่อแก้ปัญหาดินเค็ม การปรับปรุงกระบวนการผลิตข้าวโป่งเพื่อสู่เชิงพานิชย์ของกลุ่มแปรรูปข้าวโป่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกิดผลต่อการพัฒนานักวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 40 คน มหาวิทยาลัยมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพิ่มขึ้น เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน และยังมีผลสืบเนื่องต่อการร่วมทำงานกับภาคีต่างๆในจังหวัดนครราชสีมา เช่น การเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาศักภาพข้าวจังหวัดนครราชสีมา ปี 2561-2564 การจัดทำข้อมูลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์จังหวัดนครราชสีมาให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา การเป็นที่ปรึกษาการวิจัยและพัฒนาให้กับสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาต่อไป
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของการพัฒนางาน และทุนเดิมของการทำงานในโครงการ “ความร่วมมือการผลิตข้าวปลอดภัยความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มรายได้ของครอบครัวตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดนครราชสีมา” เกิดความร่วมมือระหว่างภาคีและเครือข่ายในพื้นที่ 15 อำเภอ 30 ตำบล ทำให้เห็นกลไกความร่วมมือที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดการขับเคลื่อนของนักวิชาการเพื่อชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การยกระดับการทำงานภายใต้ชุดโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตข้าวทุ่งสัมฤทธิ์สู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์โดยภาคีเครือข่ายการพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา”
ในส่วนนี้ ผศ.ดร.วาสนา ภาณุรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ“การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตข้าวทุ่งสัมฤทธิ์สู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์ฯ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดโครงการดังการ เป็นการยกระดับการทำงานเชิงสถาบันเดียวมาเป็นการผสานองค์ความรู้จากนักวิชาการที่หลากหลายสาขา รวม 28 คน จาก 3 มหาวิทยาลัยในจังหวัด ได้แก่ มรภ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมทร.อีสาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด อาทิ สหกรณ์การเกษตรพิมายจำกัด หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น โดยมีสหกรณ์การเกษตรพิมายเป็นกลไกหลักเชื่อมกับกลุ่มเกษตรกรในเขตพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์กว่า 13,000 คน
ซึ่งการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยมีความมุ่งหวังให้สหกรณ์การเกษตรพิมายมีความเข้มแข็งขึ้นสามารถเสนอผลการดำเนินงานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นสหกรณ์การเกษตรประชารัฐต้นแบบ เกิดกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise : SE ) และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากกับเครือข่ายเกษตรกรอย่างแท้จริง ผลงานวิจัยของนักวิจัยสามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาตามแนวทางประชารัฐเพื่อการสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเกิดความเข้มแข็งของสถาบันการศึกษาในจังหวัดที่พร้อมจะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาในระยะยาวและยั่งยืน