นวัตกรรมโพรไบโอติกฯต้านฟันผุ
ทีมนักวิจัยคณะทันตแพทย์มอ.
ทีมนักวิจัยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนา “โพรไบโอติกแลกโตแบซิลลัสพาราเคชิอิเอสดีหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันฟันผุ” ชนะเลิศคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม จากผลงานพัฒนาผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นวงกว้าง ช่วยต้านฟันผุให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ฟันผุได้ง่าย พัฒนาในรูปแบบนมผง นมอัดเม็ด นมเปรี้ยว โยเกิร์ตและน้ำผลไม้ มีผู้ประกอบการสนใจผลิตเชิงพาณิชย์ อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตจากอย.
ในการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 22559 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลงานที่น่าสนใจ รวมถึง รางวัลนวัตกรรมชนะเลิศด้านสังคม เนื่องจากจะเป็นประโยชน์สำหรับคนหมู่มากหรือในวงกว้างได้แก่ ผลงาน “โพรไบโอติกแลกโตแบซิลลัสพาราเคชิอิเอสดีหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันฟันผุ” ของทีมวิจัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยร่วมมือกับทีมงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ทั้งนี้ “โพรไบโอติก” หมายถึง จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ทางทีมวิจัยเล็งเห็น สุขภาพในช่องปากของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาฟันผุในเด็กเล็ก เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ จึงกลายเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา ซึ่งโพรไบโอติกสามารถนำมาใช้ช่วยเสริมสุขภาพช่องปากให้ดีขึ้น โดยลดอัตราการเกิดโรคฟันผุได้
โพรไบโอติกที่ทีมวิจัยนำมาใช้มีชื่อว่า Lactobacillus paracasei SD1 ซึ่งศึกษาคัดเลือกจนพบว่า เป็นจุลินทรีย์ในช่องปากที่สามารถป้องกันฟันผุได้ โดยลดจำนวนเชื้อก่อโรคฟันผุจากการสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำลาย นักวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนมผง นมอัดเม็ด นมเปรี้ยว โยเกิร์ตและน้ำผลไม้ โดยจุลินทรีย์ชนิดนี้ยังอยู่ได้ในผลิตภัณฑ์และไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสียคุณสมบัติไป ทั้งรูป รสและกลิ่น
ที่ผ่านมานักวิจัยนำผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกไปศึกษาในอาสาสมัครพบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับโพรไบโอติกพบเชื้อก่อโรคฟันผุลดลงและความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่ได้รับโพรไบโอติก โดยพบว่าช่วยป้องกันฟันผุได้ถึง 5 เท่าและช่วยป้องกันการเกิดโรคเหงือกได้ด้วย อีกทั้งไม่พบอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ ในอาสาสมัคร ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ก่อน จากนั้นเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา เด็กเล็กอายุ 3-5 ปีและเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ปี
งานวิจัยนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนศูนย์เด็กเล็ก เป็นโครงการต้นแบบใช้นมผงโปรไบโอติกป้องกันฟันผุในเด็กเล็ก ร่วมกับชุมชนในอบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลจังหวัดสตูลและโรงพยาบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานีและโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เวลานี้มีผู้ประกอบการสนใจเพื่อจะผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
“ทำงานวิจัยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ดีใจที่ได้รับรางวัล เพราะทำแล้วมีคนมองเห็น แต่สิ่งสำคัญคือ ผลงานนี้จะได้รับการส่งเสริมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะพัฒนานำโพรไบโอติกไปใช้กับนมถั่วเหลืองและมีการใช้หญ้าหวานทดแทนความหวานของน้ำตาล”
อีกไม่นานคงจะได้เห็นผลงานใหม่ของนักวิจัยทีมนี้กัน..