รมว.วท.แจงกรณีคำสั่งคสช.
ม.44 ยุบคกก.วิจัยสู่เอกภาพ
รมว.วิทย์แจงนายกฯใช้ม.44 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการวิจัย ตั้ง “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” มีนายกฯเป็นประธาน กำหนดทิศทาง นโยบาย แผนที่นำทาง อำนาจหน้าที่ในการปรับโครงสร้าง ปรับระบบบริหารและกลไกต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทางและอำนาจในการกำหนดการจัดสรรงบประมาณแบบโปรแกรมเบส หรือมุ่งสัมฤทธิผลมากกว่าการจัดสรรงบประมาณแบบรายปี อีกทั้งยุบคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ ยุบสภาวิจัย และคกก.สวทน. แต่ไม่ยุบองค์กร และยุบคกก.พัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ และจบเลยเพราะไม่มีสำนักงาน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ (รมว.วท.) เปิดเผยถึงกรณีการปรับเปลี่ยนองค์กรด้านวิจัยว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่า อยากเห็นการพัฒนาประเทศโดยการใช้ผลงานด้านการวิจัยหรือการพัฒนาประเทศโดยใช้นวัตกรรมให้มากขึ้น แล้วทำให้การวิจัยเกิดความสัมฤทธิ์ผลที่เป็นจริง และขอให้บูรณาการการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากนั้นจึงได้มอบหมายให้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งเป็นที่มาของ ม.44 เมื่อ 6 ตุลาคม 2559 เชื่อว่าเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทยหากเราสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้หลักการสำคัญคือ การปฏิรูปครั้งนี้จำเป็น แบ่งระดับการทำงานให้ชัดเจน ได้แก่ ระดับนโยบาย ทำให้มีความชัดเจนในการสั่งการ เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง 2.เป็นระดับการจัดสรรทุนและทรัพยากร เพื่อให้มีเอกภาพยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ทุน 3.ระดับผู้ปฏิบัติเช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับอุปสงค์กับความต้องการของประเทศชาติมากยิ่งขึ้น
รมว.วิทย์ยังกล่าวต่อว่า ม.44 จัดให้ระดับที่ 1 มีความชัดเจนและ ทำให้มีระดับ 2 และ 3 ตามมา โดย ม.44 มีการปรับกระบวนใหม่เป็น “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาทิ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิและภาคสังคม
สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาดังกล่าว ตามม.44 กำหนดไว้ในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อนหลายรายการด้วยกัน
1.กำหนดทิศทาง นโยบาย แผนที่นำทาง ตลอดจนยุทธศาสตร์ที่มีเอกภาพ เป็นจุดเดียว ซึ่งมีประโยชน์ เพราะสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่วิจัยอย่างเดียว
2.อำนาจหน้าที่ในการปรับโครงสร้าง ซึ่งอาจหมายถึงการปรับปรุงหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว หรือการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ รวมทั้งปรับระบบบริหารและกลไกต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง
3.อำนาจในการกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบโปรแกรมเบส หรือมุ่งสัมฤทธิผลมากกว่าการจัดสรรงบประมาณแบบรายปี
“ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพรวมในการลงทุนวิจัยของประเทศมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และมีความต่อเนื่อง เพราะการวิจัยส่วนใหญ่ 1 ปีจะไม่สำเร็จ แต่ต่อไปจะมีความชัดเจนว่า เรื่องไหนที่รัฐบาลเห็นว่ามีความสำคัญก็จะสนับสนุนให้ตลอดรอดฝั่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอำนาจหน้าที่ในการปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร การสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนมาก ๆ เพื่อให้นโยบาย 1% ของจีดีพีเกิดขึ้นจริง และอื่น ๆ”
ดร.พิเชฐกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันยังมีการยุบคณะกรรมการ 3 ชุดที่ไม่ใช่ยุบสำนักงาน คือ ยุบสภาวิจัย ไม่ได้ยุบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ยุบคณะกรรมการของสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน.) โดย 2 สำนักงานนี้จะไปเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดใหม่ที่ตั้งขึ้น ส่วนคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ ยุบแล้วจบ เพราะไม่มีสำนักงาน ยุบเพราะทั้ง 3 ชุดมีนายกฯเป็นประธานหมดเลย เมื่อมีชุดบนที่จัดตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นต่อไป จึงทำให้เอกภาพเกิดขึ้นได้
“สรุปโดยภาพรวมการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนี้เพื่อให้มีเอกภาพและบูรณาการ เมื่อมีการประชุมครั้งแรก คงจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามความเหมาะสมอีกชุดหนึ่งเพื่อทำงานร่วมกัน ทำหน้าที่นำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ช่วยลดภาระหรือกลั่นกรองงาน ก่อนถึงชั้นนโยบาย คาดจัดระบบเสร็จภายใน 2 เดือน” รมว.กระทรวงวิทย์กล่าว