เปิดตัว “สมาคมเหล็กลวด”
สร้างอุตฯเข้มแข็งแข่งขันได้
ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากเหล็กลวดมากกว่า 50 ราย รวมตัวเปิด “สมาคมเหล็กลวด” หวังพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตประเภทนี้ให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ชี้การผลิตจำเป็นต้องใช้เหล็กลวดคุณภาพสูงผลิตจากแร่เหล็กบริสุทธิ์ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเหล็กลวดผลิตได้ในประเทศมีปัญหาด้านคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากใช้วัตถุดิบตั้งต้นเป็นเศษเหล็กคุณภาพต่ำ ระบุปัญหาสำคัญเวลานี้คือ ผู้ผลิตยังกดดันภาครัฐให้ออกกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อบีบให้ผู้ใช้ต้องเลือกวัตถุดิบในประเทศที่มีคุณภาพต่ำ
นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล นายกสมาคมเหล็กลวด เปิดตัวสมาคมเหล็กลวด ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรรวมตัวของผู้ใช้เหล็กลวดเป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เช่น ลวด ตะแกรงเหล็กกล้าเชื่อมติดเสริมคอนกรีต ตะปู น๊อต เพลาขาว ลวดเชื่อม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้เหล็กลวดเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วกว่า 50 ราย มีการจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตรา มีมูลค่าทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท และจ่ายภาษีให้แก่รัฐไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทในแต่ละปี โดยการรวมตัวของผู้ใช้เหล็กลวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตประเภทนี้ให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้
สมาคมฯเปิดเผยอีกว่า ในการแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปชนิดต่างๆ จำเป็นต้องใช้เหล็กลวดที่มีคุณภาพสูง ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเหล็กลวด ที่ผลิตได้ในประเทศมีปัญหาด้านคุณภาพไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งมีสารปนเปื้อน เนื่องจากใช้วัตถุดิบตั้งต้นเป็นเศษเหล็กคุณภาพต่ำมีความปนเปื้อนสูง แตกต่างจากเหล็กลวดนำเข้าที่ผลิตจากแร่เหล็กบริสุทธิ์ จึงทำให้เหล็กลวดในประเทศ เกิดการหัก เปราะ หรือขาดในขณะทำการแปรรูป นอกจากนี้ยังมีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ในประเทศทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการสั่งซื้อและส่งมอบอีกด้วย
ดังนั้น ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ แต่ผู้ผลิตในประเทศบางรายกลับพยายามให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จว่า เหล็กลวดนำเข้ามีคุณภาพต่ำเพราะมีการเจือโบรอน ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วการเจือโบรอนในปริมาณที่เหมาะสม (ร้อยละ 0.0008 – 0.0065) ทำให้เหล็กลวดมีคุณภาพดีขึ้น ช่วยไม่ให้เหล็กลวดหัก เปราะ หรือขาดในขณะทำการแปรรูป
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมไทยคือ ผู้ผลิตพยายามผลักดันภาครัฐให้ออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆเพื่อบีบบังคับให้ผู้ใช้จำยอมต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศซึ่งมีคุณภาพต่ำ ทั้งๆที่ผู้ผลิตในประเทศเองไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการด้านคุณภาพที่หลากหลายของผู้ใช้ได้
ทางสมาคมฯได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงปัญหาที่บรรดาสมาชิกของสมาคมฯต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดต่อไปอีกคือ
1. การปรับแก้มาตรฐานเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจาก มอก.348-2540 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบการใช้มายาวนานเกือบ 20 ปี เป็นมาตรฐานฉบับใหม่ซึ่งทางสมาคมพิจารณาแล้วพบว่า
(1) ธาตุบางชนิดที่เพิ่มลงไปในองค์ประกอบของเหล็กลวดในมาตรฐานฉบับใหม่นี้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานใดๆในโลก รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายมาอธิบายถึงความเหมาะสมในการใช้งาน
(2) กระบวนการปรับแก้มาตรฐานฉบับนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญของการมีมาตรฐานที่ต้องผ่านวิธีการเห็นพ้องต้องกัน (consensus method) รวมทั้งยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าคณะกรรมการฯผู้จัดทำมาจากผู้ผลิต ผู้ใช้ และนักวิชาการในสัดส่วนที่สมดุลกันหรือไม่ เนื่องจากไม่พบว่ามีผู้ใช้เหล็กลวดในการแปรรูป ร่วมอยู่ในคณะกรรมการฯผู้จัดทำแม้แต่รายเดียว
2.การเปิดทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำฯ ตามประกาศของกรมการค้าต่างประเทศเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559 โดยได้ยกเว้นการเก็บอากรการทุ่มตลาดสำหรับเหล็กลวดคาร์บอนต่ำฯ 4 กลุ่มเนื่องจากผู้ผลิตในประเทศยังไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งทางสมาคมฯมีข้อสังเกตุว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านไปไม่ถึงปีกรมการค้าต่างประเทศมีหลักฐานทางด้านวิชาการใดหรือข้อเท็จจริงใดที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะยืนยันได้ว่า ผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตเหล็กลวดคาร์