สกว.-จีนถวายอาลัยแด่ในหลวง
ชูสมุนไพรต้านมะเร็ง-อัลไซเมอร์
สกว.นำนักวิจัยไทย-จีนร่วมถวายอาลัยในงานประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หวังสร้างเครือข่ายนักวิจัยสองแผ่นดิน โดยเฉพาะการทำวิจัยด้านเคมีทางยาสู่เวทีสากล งานสำคัญคือ เร่งพัฒนายาสำหรับโรคในผู้สูงวัยเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศ โดยเฉพาะการค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยฆ่ามะเร็งและลดอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเมื่อไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย เพิ่มอีกร้อยละ 19.8ในปี2025
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จีน-ไทย การวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. และ National Natural Science Foundation of China (NSFC) ณ อ่าวนาง คลิฟบีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ โดยมีนักวิจัยจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมรวม 99 คน ในโอกาสนี้ผู้อำนวยการ สกว. ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดยืนเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชเป็นเวลา 1 นาที
ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ฝ่ายวิชาการ สกว. และ NSFC ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อปี 2551 เพื่อร่วมมือในการวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติระหว่างนักวิจัยไทย-จีน และกำหนดให้จัดการประชุมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านสมุนไพรที่เป็นความสนใจร่วมกัน
สำหรับปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการ สกว. และ NSFC เห็นชอบให้มีการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “Natural Products for Drug Discovery” เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้ทำวิจัย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยในโจทย์ที่เป็นความสนใจร่วมกัน จำนวน 3 โครงการ
เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังโจทย์วิจัยด้านอื่นที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ สกว. และ NSFC จึงจัดให้มีการประชุม “The 6th China-Thailand Joint Workshop on Natural Products and Drug Discovery” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย ซึ่งถือเป็นการประเมินคุณภาพโครงการวิจัยของผู้รับทุน โดยมีการเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ จำนวน 33 เรื่อง และการนำเสนอผลงานแบบบรรยายของนักวิจัยจากทั้งสองประเทศ จำนวน 26 เรื่อง อันจะเป็นการสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกันกับนักวิจัยชั้นนำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยระหว่างนักวิจัยชั้นนำด้านเคมีทางยาจากหลากหลายสถาบันของทั้งสองประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ และยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยของประเทศและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งขยายความร่วมมือไปยังโจทย์วิจัยด้านอื่นที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ
ตัวอย่างผลงานวิจัยสำคัญในการนำเสนอครั้งนี้ ได้แก่ ความร่วมมือกับคณะวิจัยซึ่งเป็นนักเคมีจากประเทศจีนและไทยที่นำโดย ศ. ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงนักวิจัยในสาขาอื่น ๆ ของไทย ว่าได้ค้นพบฤทธิ์การต้านมะเร็งใน 5-Acetyl goniothalamin (5GTN) จากต้นข้าวหลามหรือจำปีหิน ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมและยับยั้งการรุกรานของเซลล์มะเร็งโดยออกฤทธิ์ผ่านกลไกในเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง wnt/β-catenin signaling pathway
ขณะที่ ศ. เว่ย หมิง จู นักวิจัยของจีนได้ศึกษาสารสกัดที่แยกจากจุลินทรีย์ที่พบในทะเลด้วยการวิจัยและพัฒนาวิธีการและสภาวะในการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว เช่น การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของสารอาหารเลี้ยงเชื้อ การปรับองค์ประกอบของเกลือในสารอาหาร เป็นต้น ทำให้ค้นพบสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันหลายชนิด เช่น สารออกฤทธิ์ที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลอง
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรจีนที่ฆ่าเซลล์มะเร็งในสมองโดย ศ.ยู่ เฉิน ซึ่งผ่านการทดสอบในระดับพรีคลินิกแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบระดับคลินิกกับมนุษย์
ด้าน ศ. ดร.อภิชาต สุขสำราญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ขณะนี้คณะวิจัยของตนได้ค้นพบสารออกฤทธิ์สำคัญจากพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่ยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคของผู้สูงวัย ทั้งโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด (โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ) โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท เช่น อัลไซเมอร์ รวมถึงยาลดการอักเสบ ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน
“โรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงวัย ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกับประชากรทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2025 ไทยจะมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 19.8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ในปี 2050 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนายาใหม่ ๆ ในการป้องกันและรักษาโรคเหล่านี้ เพื่อเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
ตัวอย่างผลงานวิจัยสำคัญในขณะนี้คือ การค้นพบสารออกฤทธิ์จากใบย่านางที่ช่วยลดภาวะอัลไซเมอร์ของผู้สูงวัย” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุ
ขอบคุณภาพประกอบจาก- http://www.homeest.com/,http://www.bloggang.com/และ
http://www.pstip.com/