ก.ล.ต. ผนึก7 พันธมิตรจัดเวที
FinTech Challengeถึง31ต.ค.
ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีไอเดียหรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเวทีเพื่อสร้างโอกาสหนุนธุรกิจเติบโตไกลถึงระดับโลก เมื่อก.ล.ต.ได้ร่วมกับ7 หน่วยงานพันธมิตรจัดโครงการ “FinTech Challenge” เพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาด้านฟินเทคด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้ผู้เล่นหรือการทำธุรกรรมการเงินถูกลง ช่วยลดต้นทุน เวทีนี้มีรางวัลให้ต่อยอดธุรกิจเป็นจริงกว่า 400,000 บาท รับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการถึง 31 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือสนช. ศูนย์ C Asean และชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย จัดเวที “FinTech Challenge” ขึ้น
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กระแสฟินเทคที่เข้ามาในขณะนี้ทำให้เห็นความตื่นตัวของภาคการเงิน ธุรกิจในตลาดทุน และประกันภัยอย่างหลากหลาย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน จึงได้จัดโครงการ FinTech Challenge ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอีก 7 หน่วยงาน โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อนำไปสู่การปรับเกณฑ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
“ฟินแทคจะเป็นการเปิดศักราชให้ผู้เข้ามาเล่นหรือทำธุรกรรมในแวดวงการเงินได้โดยมีต้นทุนที่ถูกลงและช่วยประมวลข้อมูล ย่อให้สั้น สร้างความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว”
ด้านนางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ผลักดันและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมจัดงาน Startup Thailand ทั้งในส่วนกลางและต่อยอดไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต มีผู้ร่วมงานรวมกว่า 52,000 คน
โดยหนึ่งในกลุ่มของ Tech startup ที่ขยายตัวมากขึ้น คือ Fintech ซึ่งมีการตื่นตัวในวงการ ทั้งการตั้งกองทุนศึกษาการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ จากเด็กรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาธุรกิจแนวใหม่ที่สามารถแข่งขันได้ โดยซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดประกันภัย มีการนำเอากระบวนการในการให้ความรู้ที่ซอฟต์แวร์พาร์คได้ใช้ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา Fintech ขนานควบคู่ไปกับทางผู้กำกับดูแลด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดประกันภัย ที่จะให้คำปรึกษาในระหว่างการคิดค้น พัฒนา แนวความคิด เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นธุรกิจใหม่ เกิดเป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฎิบัติการที่มีความแตกต่างจากการทำ startup ที่ทำกันมา และเนื่องจากการอบรมครั้งนี้ นอกจากจะมีพี่เลี้ยง หรือ mentor ด้านธุรกิจและเทคนิคแล้ว ยังจะมีmentor หน่วยงานรัฐบาลที่กำกับดูแลตลาดต่างๆ ทั้งตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดประกันภัยด้วย
” โครงการ Fin Tech Challenge ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากมุ่ง ทำให้ทางผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีแนวความคิดที่กว้างไกล เข้าใจถึงขอบเขตของกฎเกณฑ์ในประเทศไทย เพื่อที่จะพัฒนาสินค้าที่ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในเวลาเดียวกันยังจะทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลได้เข้าใจถึงแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมการเงินและประเทศชาติได้ และก่อให้เกิดการแข่งขันเทียบทันนานาประเทศในด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดประกันภัยต่อไป”
นางสุวิภายังกล่าวต่อว่า “การแข่งขันในครั้งนี้เอื้อมาก ๆ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ อย่างเทคโนโลยี “Blockchain” ที่ค่อนข้างปลอดภัย ปลอมแปลงยากและมีความเป็นส่วนตัว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการสามารถที่จะใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ทำธุรกิจ (“Blockchain” เป็น “ระบบการจัดการฐานข้อมูล” สำหรับการยืนยันตัวตน เคลียร์ริ่งธุรกรรม สืบสาวร่องรอย และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ เช่น สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิตคอยน์ หรืออะไรก็ตามที่เปลี่ยนมือกันได้-ข้อมูลจากhttp://thaipublica.org/)
นอกจากนี้ธุรกิจในปัจจุบันได้พลิกโฉมหน้าไปแล้ว มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น คนถือเงินสดลดลง มีการพิมพ์ธนบัตรลดลง ช่วยให้มีความปลอดภัยในการขนส่งและช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ โดยประเมินว่า ในอนาคตฟินแทคจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้ประมาณ 30% ของจีดีพี ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างสรรค์ฟินแทคในรูปแบบของ Service innovation เพื่อเพิ่มศักยภาพของบริษัทในการให้บริการผู้บริโภค ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา
สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ที่จะสร้างสรรค์ฟินแทคต้องมอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการธนาคาร การประกันภัย อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์และแม้แต่โรงรับจำนำ”
ทั้งนี้ก.ล.ต.เชิญชวนนักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้สนใจทั่วไป ที่มีแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์หรือบริการ ด้านการเงิน การลงทุน การประกันภัย ส่งทีมสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 2-4 คน โดยสมาชิกในทีมควรประกอบไปด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาชิ้นงานเทคโนโลยีได้ โดยเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2559 ผ่านทางเว็บไซต์ www.fintechchallenge.info
โครงการ Fintech Challenge มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงวันประกาศผล รวมทั้งสิ้น 4 เดือน โดยจะแบ่งการประกวดออกเป็น 3 รอบ ดังนี้
การประกวดรอบที่ 1- ผู้สมัครทุกทีมจะต้องนำเสนอแนวคิดหรือผลงาน พร้อมเข้ารับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบจำนวนไม่เกิน 20 ทีม
การประกวดรอบที่ 2 – ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนไม่เกิน 20 ทีม จะได้เข้าร่วมกิจกรรม boot camp เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ พัฒนาแนวคิดนวัตกรรม แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และสามารถนำความรู้มาปรับใช้กับผลงานได้จริง พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดและผลงานนวัตกรรมแก่คณะกรรมการตัดสิน เพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบสุดท้ายจำนวนไม่เกิน 8 ทีม
การประกวดรอบที่ 3 – ทีมที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทีมละ 20,000 บาท เพื่อพัฒนาต่อยอดต้นแบบนวัตกรรม และมีโอกาสได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ พร้อมได้รับการสนับสนุนพื้นที่ใช้สอย รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมจากผู้ให้การสนับสนุนซึ่งทีมผู้เข้ารอบจะต้องนำเสนอผลงานนวัตกรรมและจัดนิทรรศการแสดงผลงานในวัน demo day ซึ่งจะจัดขึ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2560 โดยจะมีการประกาศผลผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 3 ทุน รวม 250,000 บาท พร้อมโล่รางวัลในวันดังกล่าวด้วย
สำหรับทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม จะแบ่งออกเป็น 3 ทุน ได้แก่
1) ทุนนวัตกรรมประเภทRising Star Fintech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับสินค้า/บริการ/ต้นแบบ (prototype) แนวคิดที่จัดทำได้ดีพร้อมต่อยอด
2) ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative Fintech จำนวน 100,000 บาท 1 ทุน สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการในวงกว้าง
3) ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท 1 ทุน พิจารณาจากทีมที่ผลงานได้รับความสนใจมากที่สุด