ศูนย์ฯฮาลาลจุฬาฯตามรอยพ่อ
จัดThailand Halal Assembly
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ร่วมจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2016” 9-11 ธ.ค.59 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมสินค้าและบริการฮาลาล พลังของคนยุคใหม่สู่การนำสินค้าฮาลาลขับเคลื่อนธุรกิจ เน้นแนวคิดพัฒนานวัตกรรมและยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ใต้แนวคิด In Remembrance of His Majesty King Bhumibol Adulyadej Steering Towards Thailand & International Halal 4.0
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2016” กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ขึ้นอีกครั้งเป็นที่ที่ 3 ในชื่องาน “Thailand Halal Assembly 2016” การรวบรวมสินค้าและบริการฮาลาล พลังของคนยุคใหม่สู่การนำสินค้าฮาลาลสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ โดยไม่ละเลยที่จะเน้นเศรษฐกิจพอเพียง “ตามรอยพ่อ” ภายใต้แนวคิด “In Remembrance of His Majesty King Bhumibol Adulyadej Steering Towards Thailand & International Halal 4.0” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานด้านกิจการฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อมุสลิมในประเทศไทย จึงได้จัดนิทรรศการ “In Remembrance of His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej” ขึ้นเพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
รศ.ดร.วินัย(ขวา)และว่าทีร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์
ภายใต้แนวคิด “Steering Toward Thailand & International Halal 4.0 ” ซึ่งจากนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำเสนอเรื่อง Thailand 4.0 มาตลอดทั้งปี โดยพิจารณาจากสังคมประเทศไทยที่เริ่มตั้งแต่การเป็น Thailand 1.0 ซึ่งเป็นสังคมเกษตรพึ่งพารายได้จากการเกษตรเป็นหลักต่อมาจึงพัฒนาขึ้นเป็น Thailand 2.0 มีการทำอุตสาหกรรมเบาอย่างเช่นเสื้อผ้า รองเท้าที่ใช้คนงานจำนวนมากทำงานในโรงงาน พัฒนาเข้าสู่ Thailand 3.0 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนักไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเพื่อการก้าวไปสู่ความเป็นสังคมนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไซเบอร์ ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ประเทศไทยจึงขับเคลื่อนสู่ยุค Thailand 4.0 และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับมุสลิมในโลกที่มีมากถึง 1,800 ล้านคน และในบรรดาประเทศในโลกกว่า 200 ประเทศดูเหมือนประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในยี่สิบประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลไปทั่วโลกมากที่สุด จึงจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ฮาลาลของไทยให้ก้าวสู่ Thailand Halal 4.0 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มการส่งออกเพื่อก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก
โดย Thailand Halal 4.0 คือ วงการฮาลาลประเทศไทยก้าวตามไปกับเรื่องราวสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ในส่วนระบบการรับรองฮาลาลมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประยุกต์มากขึ้น ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เริ่มพัฒนาระบบ SPHERE เชื่อมโยงเครือข่ายการรับรองฮาลาลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มีการจัดทำฐานข้อมูลวัตถุเจือปนที่ฮาลาล (Halal Number) เชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัล พัฒนาเส้นทางฮาลาลสำหรับนักเดินทาง Halal Route และพัฒนาศักยภาพตลาดฮาลาลที่ก้าวหน้าได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น Thailand Halal 4.0 จึงเริ่มต้นขึ้นก่อนประเทศใดๆ และคงต้องพยายามที่จะรุดหน้าก้าวนำประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง
เมนูอาหารฮาลาล ร.9 ทรงโปรด
การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2016” ปีนี้ประกอบด้วย นิทรรศการความผูกพันของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อชาวไทยมุสลิม ที่จะพบกับนิทรรศการ “In Remembrance of His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej”, นิทรรศการดิจิตอลวิทยาศาสตร์ฮาลาล, นิทรรศการเรื่องราว 100 ปี จุฬาฯ กับบทบาทวิจัยนวัตกรรมด้านอาหารฮาลา, นิทรรศการเรื่องการขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยสู่ฮาลาล 4.0, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ, งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ ครั้งที่ 9 (HASIB 9th), การเสวนาในหัวข้อต่างๆ งานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศเกือบ 300 บูท ซึ่งจะเป็นการรวบรวมบูทอาหารฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังได้ชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรมมุสลิม และได้รับฟังบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ภาษาอาหรับอีกด้วย
การจัดงานในครั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 3 ฝ่าย คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายว่าตลอด 3 วันจะมีผู้ร่วมงานกว่า 10,000 คน และยังมุ่งหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเรื่องฮาลาลประเทศไทยต่อประชาคมโลกให้รับทราบและสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาลของประเทศไทย พัฒนาให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ Thailand Halal 4.0 อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์พัฒนาการทางเทคโนโลยี งานวิจัย และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยให้ผู้สนใจที่เข้าร่วมงานได้รับทราบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายการเติบโตการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลในปี 2560 ได้ถึง 15-20 %