Thailand Tech Showสงขลา
เสิร์ฟงานวิจัย จากหิ้ง… สู่ห้าง
มอ.จับมือสวทช. จัดงาน Thailand Tech Show เสิร์ฟงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โอกาสดีของผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้สนใจประกอบธุรกิจเทคโนโลยีในเขตภาคใต้ได้ชมและเข้าถึงผลงานวิจัย ทุกผลงานพร้อมให้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ในการผลิต จำหน่าย และ/หรือการประกอบธุรกิจ แบบไม่สงวนสิทธ์ ทั้งด้านเกษตรและประมง วัสดุและเครื่องจักร เภสัชภัณฑ์เครื่องสำอาง และการแพทย์
ผศ.คำรณ พิทักษ์ รักษาการผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร ร่วมเปิดงาน “Thailand Tech Show ภูมิภาค ครั้งที่ 2/2559 จังหวัดสงขลา”ตลาดเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาจาก สวทช. และหน่วยงานร่วม
ผลงานดังกล่าวได้เลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้สนใจประกอบธุรกิจเทคโนโลยีในเขตภาคใต้ ทุกผลงานล้วนพร้อมให้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ในการผลิต จำหน่าย และ/หรือการประกอบธุรกิจ แบบไม่สงวนสิทธ์ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งเกษตรและประมง วัสดุและเครื่องจักร เภสัชภัณฑ์เครื่องสำอาง และการแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม ซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ สื่อเพื่อการเรียนรู้ อัญมณีและเครื่องประดับและอื่น ๆ รวม 281 ผลงาน
กิจกรรมภายในงาน นอกจากมีการแสดงผลงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และหลากหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อต่างๆ พร้อมเปิดเวทีให้เจ้าของงานผลงานได้ขึ้นนำเสนอผลงานวิจัยด้วยตัวเอง
ตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำเสนออาทิ “นวัตกรรมลูกอมเจลลี่หญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่” ของรศ.ดร.ภก.อนันต์ ไชยกุลวัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ประสิทธิผลในการช่วยเลิกบุหรี่ได้ ต้นทุนในการผลิตต่ำ ปลอดภัย อาการข้างเคียงเล็กน้อย อย่างทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คลื่นไส้ คอแห้ง พกพาสะดวก ใช้ง่าย แต่ถือเป็นวิธีบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ นอกจากนี้ยาช่วยเลิกบุหรี่ในปัจจุบันยังไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ทำให้ประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ลดลง อีกทั้งยาช่วยเลิกบุหรี่ยังยังมีผลข้างเคียงเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานๆ ทำให้ผู้ใช้เลิกใช้ และไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นคำขอสิทธิบัตร
นอกเหนือจากนั้นยังมีผลงาน เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ใยอาหารชนิดละลายน้ำได้จากเปลือกมะม่วงผลงาน ดร.โศรดา วัลภา นักวิจัยอาวุโส จากฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งใยอาหารจากเปลือกมะม่วง มีปริมาณใยอาหารสูง โดยเฉพาะใยอาหารที่ละลายน้ำ จึงมีส่วนช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและคงระดับน้ำตาลในเลือด มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ นำมาใช้ในลักษณะการทดแทนส่วนของแป้งสาลีที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์เบเกอรีในระดับ ตั้งแต่ 10 – 15% ทำให้แคลอรีของผลิตภัณฑ์ลดลงและมีปริมาณใยอาหารเพิ่มขึ้น,
สารเคลือบผิวมะม่วงที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคเพื่อยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว ผลงานนางสาวโสรญา รอดประเสริฐ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ,สารเคลือบผิวผลไม้จากไขรำข้าว รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,แผ่นแปะแก้ปวดจากสารสกัดไพลและสารเมือกจากเมล็ดแมงลัก ผลงานรศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ และคณะนักวิจัยภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,เครื่องเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก เตือนภัยแบบ 4 ระดับ ผลงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชิต นางแล สำนักวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและ อิฐทนไฟจีโอโพลิเมอร์จากกากอุตสาหกรรม และกรรมวิธีการผลิต ผลงานดร.ฟองจันทร์ จิราสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นต้น
โดยในส่วนการบรรยายพิเศษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ได้ให้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง New S-Curve สู่ Thailand 4.0 แก่ผู้เข้าร่วมงาน เพื่อให้ความรู้ในเรื่องนโยบายของรัฐบาลกับการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจากการผลิตในอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นความเป็นผู้ประกอบการ เน้นความร่วมมือ เติมเต็มซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน
อีกหนึ่งหัวข้อการบรรยายพิเศษจาก อาจารย์ธรรมศักดิ์ อรชุนวงศ์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาด ในเรื่อง “การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงในยุคดิจิทัล” โดยอาจารย์ฝากแง่คิดในเรื่องการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลไว้ 5 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างจุดจดจำ: ต้องทำแบรนด์ของเราให้คนจำได้ (2) การกำหนดคุณค่า: ลูกค้าพึงพอใจสิ่งใดนั่นเท่ากับว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า (3) การสรรหาเรื่องเล่า: ต้องมีเรื่องราวของแบรนด์ให้คนพูดถึง (4) การเข้าถึงชุมชน: ต้องรู้ว่าลูกค้าคือใครและลูกค้ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มสร้างรายได้ และ (5) การต้องเป็นคนดี: ผู้ประกอบการต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับธุรกิจ
ทั้งนี้ งาน Thailand Tech Show ระดับภูมิภาค จะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนถัดไป สำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้สนใจลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีในเขตภาคเหนือ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับผู้สนใจข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้าชมได้ที่ https://www.thailandtechshow.com/