เครือใบหยกทุ่ม50ล.ดึง ‘พาโบล’
ชีสทาร์ตญี่ปุ่นบุกตลาดเบเกอรี่
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของตลาดเบเกอรี่ไทยและเติบโตได้สวนกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซาลง “ปิยะเลิศ ใบหยก” รองประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยกและประธานกลุ่มบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด จึงเล็งเห็นโอกาส ประกอบกับความเชื่อมั่นในแบรนด์ “PABLO” ชีสทาร์ต จากถิ่นแดนปลาดิบจึงนำเข้ามาบุกตลาดไทยครั้งแรก เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่โปรดปรานขนม ผุดร้านสาขาแรก ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยจำนวนผู้ต่อคิวยาวเหยียดในแต่ละวัน เรียกว่า ใครอยากชิมขนมอร่อย ๆ ต้องอดทนรอหน่อย
นายปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยก และ ประธานกลุ่มบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ดูแลธุรกิจแบรนด์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทางพีดีเอส โฮลดิ้ง ได้ทุ่มงบประมาณ 50 ล้านบาทในธุรกิจเบเกอรี่ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นคือ แบรนด์ “พาโบล” (PABLO)จากบริษัท DOROQUIA HOLATHETA ของญี่ปุ่น ระยะสัญญา 5 ปีต่ออีก 5 ปี เพื่อเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดขนมเบเกอรี่อิมพอร์ตในไทย และเตรียมรองรับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปีนี้
นายปิยะเลิศ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเบเกอรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554-2559 มีการเติบโตเฉลี่ย 7.6% ต่อปี โดยในปี 2558 มีมูลค่าถึง 25,809 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Euromonitor International) และมีการแข่งขันอันรุนแรงในตลาดขนมเบเกอรี่ในไทย จึงมองเห็นโอกาสในการนำแบรนด์พาโบลให้ประสบความสำเร็จในไทย เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งแบรนด์พาโบล มี “ชีสทาร์ต” เป็นสินค้าหลัก
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจอาหารของเครือใบหยกเพิ่มอีกแบรนด์ หลังจากในปัจจุบันทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ในการนำแบรนด์เข้ามาบริหารในไทยอยู่แล้ว ซึ่งแบรนด์อาหารและขนมจากต่างประเทศที่เครือใบหยกดูแลอยู่แล้ว5 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอิคโคฉะราเมน ราเมนหมูแผ่ อันดับ 1 จากฟุกุโอกะ, ร้านเซไค โนะ ยามะจัง ไก่ทอดจากนาโกย่า, ร้านอุชิดายะ ราเมน จากเมืองโยโกฮาม่า, ร้านมิโซะคัตสึ ยาบะตง ทงคัตซึสไตล์ญี่ปุ่นจากนาโกย่า และร้านอาหารไทยมิสสยาม ที่นำไปเปิดที่ จังหวัดฟุกุโอกะของญี่ปุ่นด้วย
นายปิยะเลิศ เปิดเผยว่า ในไตรมาสนี้ บริษัทได้ใช้งบลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ในการนำธุรกิจพาโบล ชีสทาร์ตเข้ามาในไทย แบ่งเป็นค่าแฟรนไชส์ ค่าตกแต่งร้าน ค่าดำเนินการ ค่าเช่าสถานที่ และงบการตลาด
สำหรับแผนการประชาสัมพันธ์นั้น จะใช้การผสมผสานทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักศึกษา วัยรุ่นย่านใจกลางเมือง และลูกค้าที่มาในรูปแบบของครอบครัว รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสินค้าหลักของพาโบลเป็นชีสทาร์ตก้อนใหญ่ขนาด 15 เซนติเมตร หรือราวๆ เค้ก 1 ปอนด์ จึงสามารถแบ่งทานได้หลายคน และมีพาโบลมินิ ขนาดเล็กสำหรับรับประทานคนเดียวได้
“สาขาแรกให้บริการในรูปแบบของคาเฟ่ ตามความต้องการของบริษัทที่ญี่ปุ่น ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามานั่งทานที่ร้าน รวมถึงสั่งรายการสินค้าอื่นๆ รับประทานได้ด้วย เช่น ซอฟต์ครีม และน้ำผลไม้ปั่นให้บริการ
แบรนด์พาโบล มีจุดแข็งอยู่ที่ชีสทาร์ตที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของญี่ปุ่น และการสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีกิจกรรม หรือโปรโมชั่นออกมากระตุ้นการซื้อของลูกค้าอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งสินค้าที่มีความหลากหลาย ทำให้เป็นแบรนด์ที่ไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังมองว่าสยามพารากอนเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับร้านพาโบลสาขาแรกในประเทศไทย เดินทางสะดวกเพราะตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังที่อื่นๆ อีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า”
นายปิยะเลิศประเมินค่าใช้จ่ายต่อหัวของลูกค้าจะอยู่ที่ประมาณ 75 – 250 บาท ซึ่งไม่สูงไปกว่าร้านขนมแบรนด์อิมพอร์ตอื่นๆ ในท้องตลาดที่เป็นคู่แข่ง โดยราคาจะโดยกว่าที่ญี่ปุ่นประมาณ20-30% เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมดจากญี่ปุ่น หรือมากถึง 99% ส่วนที่เป็นวัตถุดิบในไทยมีเฉพาะน้ำแข็งเท่านั้น
ทั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ใช้บริการที่ร้านพาโบลไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 คนต่อวัน ซึ่งปัจจุบันลูกค้าราว 70% ซื้อกลับบ้าน และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวไทย ชาวต่างชาติมีเพียง 10% จึงคาดว่าจะทำยอดขายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อหนึ่งสาขา จะเพิ่มสาขาที่ 2 ในรูปแบบคาเฟ่อีกในปีหน้า อย่างไรก็ดีใน 5 ปีแรกตัั้งเป้าขยายให้ได้มากถึง 6 สาขา เน้นในเขตกรุงเทพฯ ย่านธุรกิจสำคัญ พื้นที่เริ่มต้น 40 ตารางเมตร-100 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดมองไว้ที่ เชียงใหม่ พัทยา จ.ชลบุรีและ ภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะขยายในราวปี2560-2561
สำหรับกระแสตอบรับหลังจากที่ได้ทำการเปิดร้านไปนั้น นายปิยะเลิศ เผยว่า “ภาพรวมแบรนด์ได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เปิดไปเกือบ 1 เดือน ยังคงมีผู้มาต่อคิวซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากทุกวัน และเป็นที่กล่าวถึงทั้งในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากการที่พาโบลมีฐานแฟนคลับคนไทยที่รู้จักแบรนด์อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก บวกกับการตั้งราคาที่ไม่ต่างกับที่ญี่ปุ่นมากนัก กล่าวคือ สูงกว่าประมาณ 20% แต่ได้รับสินค้าคุณภาพ ที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า”
ในขณะนี้นับว่า “พาโบล” เป็น 1 ใน 6 แบรนด์อาหารและขนมจากต่างประเทศในพอร์ตการลงทุนด้านธุรกิจอาหารของบริษัทพีดีเอส โฮลดิ้ง รวม 6 แบรนด์มีทั้งหมด 9 สาขา บริษัทพีดีเอสตั้งเป้ารายได้ของบริษัทไม่รวมพาโบลที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานไว้ที่ 120 ล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดไว้ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดรายได้ 85-90 ล้านบาท เชื่อว่า รายได้ของบริษัทหลังรวมพาโบลจะเพิ่มขึ้น ผลจากพาโบลสร้างสัดส่วนยอดขายให้กับบริษัทได้มากกว่า 50%
นอกเหนือจากธุรกิจขนมแล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือใบหยกมีการขยับตัวเช่นกัน โดยทุ่มทุนราว 200-300 ล้านบาทด้านธุรกิจโรงแรม โดยไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 มีโครงการเปิดโรงแรม 2 แห่ง แถวยมราช เป็นโรงแรมขนาดกลาง 200 ห้อง ส่วนที่โรงแรม ทำเลแถวรัชดา เป็นโรงแรม 3 ดาว ขนาด 80 ห้อง คาดว่าจะเปิดบริการราวปลายปีหรือไตรมาสที่ 4
แต่ในเวลานี้ไปชิมขนมอร่อย ๆ กันก่อนดีกว่า ผู้สนใจไปชิมของอร่อยที่ร้านพาโบลสามารถไปกันได้ทุกวัน เพราะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10:00 – 22:00 น. ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น G โดยลูกค้าที่สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 063-171-4292 หรือ https://www.facebook.com/PABLOCheesetartThailand และทางอินสตราแกรม @pablo_cheese_tart_thailand