ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี ครั้งที่ 5 (NanoThailand 2016) วันที่ 27 -29 พ.ย. 2559 ใต้กรอบแนวคิด “นาโนเทคโนโลยี ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นักวิจัยพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายวิจัยระดับภูมิภาคและนานาชาติ
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวเปิดงานว่า ศูนย์นาโนเทค สวทช. สมาคมนาโนเทคโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนเทค ร่วมกันดำเนินการจัดประชุมวิชาการนาโนไทยแลนด์มาเป็นครั้งที่ 5 โดย ศูนย์นาโนเทค สวทช. ให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็น “เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่” ในศตวรรษที่ 21 ที่นับวันจะมีบทบาทและความสำคัญต่อสังคมโลกมากขึ้น ทั้งในภาคการศึกษา อุตสาหกรรม การแพทย์ และอื่นๆ
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศไปประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการวิจัยนาโนเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยในสาขาต่างๆ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจระบบแสดงมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นาโนให้กับผู้ประกอบการ และคาดหวังว่าการจัดประชุมครั้งนี้ จะช่วยให้งานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย เติบโต ก้าวหน้า และนำมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับศูนย์นาโนเทค ได้นำผลงานซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (ด้านเศรษฐกิจ) ประจำปี 2559 “ไข่ออกแบบได้” มาร่วมโชว์ผลงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของ บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร (NAF) หน่วยวิจัยเกษตรนาโนและสิ่งแวดล้อม (NAE)
นวัตกรรมการออกแบบไข่ไก่ ให้มีโภชนาการและคุณภาพตามต้องการ โดยศูนย์นาโนเทค ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสารสกัดสมุนไพรในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นที่มีสมบัติละลายน้ำได้ดี ที่มีผลต่อความสมบูรณ์และค่าความสดของไข่ไก่ ซึ่งสารสกัดนี้จะใช้ผสมลงในน้ำดื่มในการเลี้ยงไก่ เมื่อแม่ไก่ได้กินเข้าไป จะทำให้แม่ไก่สุขภาพดี ส่งผลให้ไข่ไก่ที่ออกมามีคุณภาพดีและยังสามารถออกแบบและเสริมธาตุอาหารในไข่ไก่ได้ตามต้องการ โดยงานวิจัยนี้เป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาตำรับอิมัลชั่นชนิดเกิดเองของน้ำมันโหระพาและน้ำมันออริกาโน่ (Self-emulsifying delivery system of sweet basil and oregano oil)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์นาโนเทค สวทช. ยังมีการนำบริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์นาโนที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลากหลาย ของ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบทางนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง (National Advanced Nano-characterization Center- NANC) ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่มีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ช่วยลดเวลาและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจที่ต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนทั้งในส่วนที่ผลิตเองในประเทศและผลิตภัณฑ์นาโนที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. สมาคมนาโนเทคโนโลยีฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการทางด้านนาโนเทคโนโลยี หรือ นาโนไทยแลนด์ 2016 ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “นาโนเทคโนโลยี ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก เครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัย 8 แห่งจากทุกภูมิภาค รวมทั้งพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนองานวิจัยพร้อมทั้งแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าของผลงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (ศูนย์ความเป็นเลิศนาโนเทค-ด้านอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์) โดย วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์การตรวจสอบรสชาติอาหารด้วย (electronic tongue): อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลียนแบบประสาทสัมผัสรับรสของมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศูนย์ความเป็นเลิศนาโนเทค-ด้านวัสดุและระบบอัจฉริยะ) วิจัยและพัฒนา ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์ (Wireless Water Sensor Network): เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการตรวจวัดคุณภาพน้ำเหมาะสำหรับการใช้งานทั้งในแหล่งน้ำทั่วไป บ่อน้ำในโรงงาน อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
จึงนับว่าเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นักวิจัย นักวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและแวดวงวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศกว่า 60 คน มีผู้ส่งผลงานกว่า 100 ผลงาน นำเสนอโปสเตอร์กว่า 100 เรื่อง พร้อมทั้งการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนาโนจากบริษัทรายใหญ่ อาทิ บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเกท (ประเทศไทย) จำกัด และ ศ.ดร.ไมเคิล โคอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุนาโน วิทยาลัยทรินิตี้ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ มาบรรยายในเชิงทฤษฎีและการทดลองวิจัยเกี่ยวกับด้านวัสดุนาโน
นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายประเทศทั้งจากยุโรปและเอเชีย ที่นำหัวข้อการบรรยายให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้เห็นภาพรวมของเทคโนโลยีนาโนแบบครบถ้วน ทั้งเรื่องวัสดุนาโน นาโนด้านการแพทย์และยา นาโนด้านการเกษตร นาโนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบด้านนาโน ตลอดจนนาโนเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน จะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 400 คน