มุมเกษตร..จากศาสตร์พระราชา
สู่ปฎิบัติการบนท้องนาอีสาน
จากศาสตร์พระราชา สู่ปฎิบัติการบนท้องนาอีสาน ..ตัวอย่างดี ๆ ของความร่วมมือกันของภาครัฐและประชาชนสู่การทำนาอย่างยั่งยืน เป็นชาวนาแล้วไม่จน โดยพอช.นำสื่อสัญจรพื้นที่คัสเตอร์ข้าวอีสานกลาง(มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด)ใน 3 พื้นที่ เรียนรู้การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวของชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ที่มีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี การเรียนรู้เชื่อมโยงเรื่องพันธุ์ข้าวอีสานตอนกลาง 20 ตำบล การแปรรูปข้าว พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด พร้อมประกาศยุทธศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ภาคประชาชน ส่งมอบข้อเสนอต่อรองผวจ.ร้อยเอ็ด
สานต่อภารกิจกองทุนข้าวพันธุ์ดี ตำบลเขื่อน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
“ ที่นี่ทำนากันทั้งตำบลปีละ 2 ครั้ง นาปีกับนาปรัง ต่อ 1 รอบการผลิต 10 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์โดยเฉลี่ย 12 กระสอบ ๆ ละ 25 กิโลกรัม ราคา 650 บาท เฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ต่อปี ชาวบ้านทั้งตำบลต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธ์ุข้าวไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท หากเราพึ่งพาตนเองเรื่อง เมล็ดพันธุ์ได้ จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตอย่างเห็นได้ชัด ” สำลี สีมารักษ์ สภาองค์กรชุมชน ตำบลเขื่อน กล่าว
ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ที่ตำบลนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 โดยจัดตั้งกองทุนพันธุ์ข้าวดำเนินการใน 3 หมู่บ้าน มีสมาชิก 60 คน มีกองทุนข้าวครั้งแรก 2 ตัน มีเงินทุน 115,000 บาท มีการจัดสวัสดิการปันผลกำไรให้กับสมาชิก ช่วงแรกของการจัดตั้งกองทุนได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเกษตรอำเภอ สมาชิกกู้ยืมพันธุ์ข้าวไปปลูกตามฤดูกาล กู้ยืม 10 ถัง ส่งคืน 12 ถัง
ปัจจุบันมีการต่อยอด กองทุนข้าวพันธุ์ดีตำบลเขื่อน โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือ พอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 70,000 บาท องค์การบริหารส่วนตำบลสมทบงบประมาณ 20,000 บาท ซึ่งแกนนำตั้งเป้าหมายจะขยายกองทุนพันธุ์ข้าวให้ครอบคลุม 11 หมู่บ้าน จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์ข้าวระดับตำบล ระดมพันธุ์ข้าวจากสมาชิก เพื่อลดต้นทุนการทำนาให้กับเกษตรกรในตำบล
โดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ จัดกระบวนการและเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาเสนอแนะ และมีสภาองค์กรชุมชนอีก 3 ตำบลในจังหวัดมหาสารคามมาร่วมเรียนรู้ ประกอบด้วยตำบลหนองคูขาด อำเภอบรบือ ต.เขวาไร่ อ.นาเชือก และ ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง มีคนมาเรียนรู้ตำบลละ 30 คน และได้มีการลองลงมือทำเพื่อนำไปขยายสู่การปฎิบัติในตำบล
ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นการทำนาข้าวต้นเดียว ซึ่งจะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อไร่และเพาะ 4 สายพันธุ์ ได้แก่พันธุ์ข้าว กข.6 (ข้าวเหนียว) ข้าวหอมมะลิ 105 (ข้าวเจ้า) ข้าวหอมมะลิและข้าวเจ้าหอมใบเตย โดยทั้ง 4 สภาองค์กรชุมชนตำบลได้ช่วยกันลงแขกปักดำในพื้นที่นา 2 แปลง 1 ไร่ และ 3 ไร่ เป็นแปลงสาธิตและการเรียนรู้ร่วม ผลผลิตที่ได้ก็เป็นกองกลางของตำบลเขื่อน
สำลี สีมารักษ์ สภาองค์กรชุมชน ตำบลเขื่อน เล่าให้ฟังว่า ในเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว เมื่อปี 2551 ที่ตำบลมีการสำรวจข้อมูลตำบล โดยการสำรวจ 330 หลังคาเรือน 11 หมู่บ้าน ๆ ละ 30 ครัวเรือน พบว่าชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายเรื่องปัจจัยการผลิตการทำนาหลายสิบล้านบาท สำหรับค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงและค่าเมล็ดพันธุ์ จึงมีการพูดคุยกันว่าเป็นจริงหรือและจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นจัดเริ่มต้นที่ต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องเมล็ดพันฑุ์ข้าวซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ
อีกปัญหาที่พบคือ ในพื้นที่ทำทั้งนาปรังและนาปี ทำทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว สลับกันปลูกข้าว พันธุ์ข้าวก็ไม่ได้มีการคัดแยกถึงเวลาหว่านก็ไปซื้อข้าวพันธุ์มาลงเลย ทำให้เกิดปัญหาข้าวปน อีกทั้งการใช้รถเกี่ยวจึงทำให้ปัญหาข้าวปนเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรโดยตรง ปีนี้เป็นการทำปีแรก ปีหน้าตั้งเป้าต้องเกิดให้ได้ 30 ไร่
แปลงสาธิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่ชุมชน บ้านอีโคตร หมู่ 1 ต.ศรีโคตร อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด
สภาพปัญหาของตำบลศรีโคตร ในเรื่องการเกษตร ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ การขาดน้ำ พื้นที่ตำบลไม่มีฝายกักเก็บน้ำ ตำบลต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติ น้ำฝน ส่วนน้ำในหนองจะเป็นน้ำเค็ม และสภาพดินเค็ม บางส่วนพื้นที่ดอน
นายเหมราช สนศรี หนึ่งในสภาสาเกตนครให้ข้อมูลเพิ่มเติม
การทำนาเป็นอาชีพหลักของเกษตรในตำบลศรีโคตรปัจจุบัน ปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องการทำนา เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยเคมี สารเคมีและอื่น ๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีราคาแพงแล้วยังไม่ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์แต่ยังพบเมล็ดพันธุ์ที่ปนมาด้วย เมื่อเกษตรกรนำข้าวเปลือกไปขายปรากฏว่าจะมีข้าวปนจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางหักสิ่งเจอปนอยู่เป็นประจำทุกปี
นายอุทัย มะลิวัลย์ สภาองค์กรชุมชนตำบลศรีโคตร เล่าให้ฟังว่า เพื่อแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวราคาสูง การปลูกข้าว ขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำ เวลาชาวบ้านชาวนาขายข้าวพ่อค้ากำหนดราคาเอง แต่เมื่อถึงเวลาไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูก พ่อค้าขายให้เราราคาแพง จึงทำให้เกษตรกรชาวนาขาดทุน เพื่อเป็นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองให้มีคุณภาพมากขึ้น และยกระดับสายพันธุ์พื้นเมืองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตพันธุ์ข้าวให้เข็มแข็ง จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง (หอมมะลิ)สู่เศรษฐกิจฐานรากขึ้น โดยมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 9 หมู่บ้าน สมาชิก 150 ครัวเรือน
ซึ่งภาพที่อยากเห็นในอนาคตของตำบลคือ 1.มีธนาคารพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีคุณภาพเหมาะสมกับพื้นที่ 2.ขยายแปลงปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้ได้เต็มที่ 3.มีเกษตรกรคนรุ่นใหม่หันมาปลูกข้าวพื้นเมือง 4.สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนและ5.เกิดเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในระดับจังหวัด โดยจัดกิจกรรมการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ความรู้คณะกรรมการและสมาชิกและเครือข่ายดำเนินงานการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และคัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่ดี จัดทำแปลงสาธิต 10 แปลง โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบการจัดการกองทุนพันธุ์ข้าวของชุมชน สร้างเครือข่ายช่วยเกษตรผู้ผลิตพันธุ์ข้าวในระดับจังหวัด
พัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ตำบลหนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
การสนับสนุนให้เกษตรกรในตำบลหนองแคนได้มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อก่อให้เกิดผลสืบเนื่องไปสู่การแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในตำบล ตลอดทั้งส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าดอนหนองโจนจำนวน 70 ไร่ ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวและผืนสุดท้ายของตำบลหนองแคนที่เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย จะส่งผลให้เกษตรกรคนในชุมชนและคนนอกชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วและที่สุดแล้วยังส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเสื่อโทรมของดิน น้ำ ป่า ในตำบลหนองแคน และอาจจะขยายผลไปสู่ตำบลใกล้เคียงผ่าน “ตำบลต้นแบบการจัดการตนเอง”ซึ่งตำบลหนองแคนมีศักยภาพอยู่แล้ว
ส่วนศักยภาพชุมชนที่เห็นเด่นชัดคือ มีสภาองค์กรชุมชนที่เป็นแกนกลางในการเชื่อมประสานทุกอย่างผู้นำท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่เข้าใจการขับเคลื่อนงาน และมีการจัดการระบบการเรียนรู้ มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง พัฒนาที่พักโฮมสเตย์ เพื่อรองรับการเป็นชุมชนเรียนรู้ และเป็นตำบลสีเขียวในอนาคต
จากการเกษตรที่ทำแบบเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น ยิ่งใส่ยิ่งเป็นหนี้เพิ่มเพราะรายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายได้เท่าเดิมหรือต่ำลงเพราะคุณภาพของผลผลิตไม่ดี ทางเครือข่ายเกษตรยั่งยืนพื้นที่ตำบลหนองแคนจึงได้ใช้การผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อ ลดปัญหาหนี้สินจากการลดรายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรและยังส่งเสริมให้เกษตรพึ่งตนเองด้านอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารปลอดภัยรับประทาน ลดการเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ปรับทัศนคติผู้นำและเกษตรกรเพื่อให้หันมาพึ่งตนเอง
มีการจัดการบัญชีรายรับรายจ่าย มีการจัดการองค์ความรู้ โดยการถอดองค์ความรู้ของปราญช์ชาวบ้าน ผู้รู้ หรือแหล่งเรียนรู้ นำมาพัฒนาให้เกิดเป็นหลักสูตรที่สามารถถ่ายทอดได้ โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริงจากผู้ถ่ายทอด
ดังนั้นทางคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองแคนจึงได้เสนอ “โครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากตำบลหนองแคน”เพื่อพัฒนายกระดับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์อินทรีย์ เพื่อนำไปสู่การจัดการระบบเศรษฐกิจชุมชนตำบลหนองแคนอย่างยั่งยืนต่อไป…
วงโสเหล่ “ข้าวในวิถีคนอีสาน สภาพปัญหาและทางออก” โดยมีคุณอุบล อยู่หว้า รองประธานมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายกษตรกรรมทางเลือก คุณนีณวัตน์ เคนโยธา คณะทำงานยุทธศาสตร์ภาคอีสานตอนกลาง พอช.คุณสว่าง สุขแสง แกนนำขบวนองค์กรชุมชนตำบลหนองแคนและคุณวิเชียร พลสยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(พอช.) ดำเนินรายการโดย คุณประพจน์ ภู่ทองคำ
*การส่งมอบข้อเสนอ “ยุทธศาสตร์ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ภาคประชาชน” ต่อนายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
เรียบเรียงโดย…สุมุนา