มุมเกษตร..วว.-กระทรวงวิทย์
จัดศูนย์ถ่ายทอด ‘ยืดอายุลำไย’
“ลำไย” นับเป็นผลไม้โปรดของหลาย ๆ คนและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทยด้วยมีมูลค่าการส่งออกเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่แหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายพิเศษของรัฐ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก” เพื่อใช้องค์ความรู้ด้านวิทย์-เทคโนฯเป็นต้นแบบและเพิ่มขีดความสามารถของเอกชน ชุมชน เกษตรกรลำไยในทุกด้าน ณ อบต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาการเน่าเสียของลำไยจากสภาวะลำไยล้นตลาด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลผลิตได้มาตรฐานการส่งออก
“ลำไย” ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ โดยสถิติจากศูนย์ข้อมูลผลไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในปี 2558 ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกลำไยมากถึง 887,646 ไร่และมีผลผลิต 557,510 ตัน เฉพาะผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งมียอดส่งออกในปี 2559 เป็นมูลค่ามากกว่า 8,400 ล้านบาท ส่งออกลำไยสด 11,600 ล้านบาท ลำไยบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ส่งออกเป็นมูลค่า 660 ล้านบาทและลำไยแช่เย็นจนแข็ง ส่งออกเป็นมูลค่า 5.4 ล้านบาท
ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นที่ตั้งของโรงรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบ มีประสิทธิภาพควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยยืดอายุการเก็บผลลำไยหลังการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น 30-45 วัน เสริมสร้างขีดความสามารถการส่งออกลำไยที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ
โรงรมแก๊สซัลเฟอร์ได้ออกไซด์แห่งนี้ นำเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)เข้ามาใช้ ซึ่งมี 3 ระบบ คือ 1.ระบบการรมควันด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถควบคุมปริมาณแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในเนื้อลำไยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ระบบป้องกันการรั่วไหลของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการและในพื้นที่ทำงานในโรงงาน และ 3.ระบบการควบคุมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกนอกโรงงาน เป็นระบบมีการหมุนเวียนน้ำกลับไปใช้ซ้ำไม่มีการระบายน้ำทิ้ง และได้ผลพลอยได้เป็นยิปซั่ม สามารถใช้เป็นวัสดุปรับปรุงสภาพดินได้
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก นอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบแล้ว ยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ของ วว. ในด้านเทคโนโลยีการจัดการสวนลำไย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลำไยสด และเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม และศึกษาดูงาน ให้แก่ประชาชนในชุมชน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและสังคม มีการแลกเปลี่ยน เสริมสร้างองค์ความรู้ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยพัฒนา บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ วว. ให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายและชุมชนอย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงความสำเร็จในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ วว. เข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่จังหวัดลำพูนและแก้ไขปัญหาการส่งออกลำไยสด ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออกว่า ได้ดำเนินการอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม อันได้แก่ โรงรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของโรงรมที่ได้มาตรฐานสากลให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกร
การถ่ายทอดเทคโนโลยีและยกระดับมาตรฐานลำไยเพื่อส่งออก เปิดสอน 3 หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการสวนลำไย 1.กระบวนการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2.การจัดการสวนลำไย และ 3.เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลำไยสด พัฒนา QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่จากสวนผู้ผลิตลำไยถึงผู้ส่งออก ยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพ เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยให้แก่ผลผลิต
การพัฒนาระบบมาตรฐานผู้ประกอบการลำไยเพื่อการส่งออก ดำเนินงานพัฒนาระบบมาตรฐานและรับรองระบบ GMP ตามมาตรฐาน Codex โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการผ่านการรับรองระบบจำนวน 2 ราย/ปี การเสริมรายได้ผู้ปลูกลำไย (การปลูกเห็ดในแปลงลำไย พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากลำไย บรรจุภัณฑ์ลำไยสด เครื่องมือช่วยเก็บลำไย การผลิตลำไยอินทรีย์นอกฤดู การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี)
เกษตรกรลำไยและผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาตัวเอง สามารถติดต่อไปที่ศูนย์ได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก-http://nwnt.prd.go.th,http://lamyaigarden.blogspot.com