สธ.แนะ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”
ลดเสี่ยงหวัด-หวัดใหญ่ฤดูหนาว
สธ.เตือนภัยช่วงหน้าหนาวเสี่ยงเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ระบุปี2559 นี้ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 6 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 160,505 ราย เสียชีวิต 43 ราย แนะมาตรการป้องกันตนเองง่าย ๆ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” สกัดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการโรครุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวและหลายพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประชาชนเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 6 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 160,505 ราย เสียชีวิต 43 ราย ภาคกลาง พบผู้ป่วย 25,352 ราย เสียชีวิต 14 ราย ภาคเหนือ พบผู้ป่วย 31,714 รายเสียชีวิต 4 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 32,548 ราย เสียชีวิต 21 ราย และในอาการรุนแรงอาจจะพบโรคปอดบวมร่วมด้วย
จึงกำชับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรครวมทั้งให้คําแนะนําประชาชนในการดูแลสุขภาพอนามัย และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจแพร่ระบาดได้ง่าย หากประชาชนมีอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่ามาตรการที่สามารถป้องกันโรคได้ดี คือ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 1.ปิดคือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จามต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในที่ชุมชน 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร
3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน