กรมโรงงานฯร่วมมือ-สผ.-อบก.
รายงานข้อมูลก๊าซฯภาคอุตฯ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จับมือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบูรณาการด้านการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2559 – 2563” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรแบบบูรณาการ เพื่อภาครัฐนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์บริหารจัดการ กำหนดมาตรการลดปล่อยก๊าซฯภาคอุตสาหกรรมได้
นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การบูรณาการด้านการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ปีพุทธศักราช 2559 – 2563” เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเก็บรวบรวมข้อมูลกิจกรรมและจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อผลักดันการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยหลังปี 2563 ว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2573
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียจากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ เป็นหน่วยงานหลักที่จะรวบรวมข้อมูลกิจกรรมในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรม หน่วยงาน สถาบันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลให้มีความถูกต้อง และเป็นไปตามกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนฯ จัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ โดยที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ มีมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาด โครงการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการนำวิศวกรรมคุณค่าไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในประเทศไทย โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นต้น
ด้าน นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความร่วมมือการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ว่า สผ.เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหน่วยงานหลักทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และภาคของเสีย กรมโรงงานฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ภาคส่วน คือ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสีย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
โดยมีคณะทำงานฯ เป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลให้มีความถูกต้องและเป็นไปตามกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบด้วยระบบ ก่อนส่งมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคำนวณและจัดทำรายงานเสนอต่อ UNFCCC ต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาระบบจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย (พ.ศ.2558-2561) ร่วมกับ กรมสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย ในการสนับสนุนและพัฒนาการจัดทำระบบบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Thailand Greenhouse Gas Emission Inventory System เป็นการคำนวณก๊าซเรือนกระจกตามแนวทาง IPCC 2006 หากการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ ประเทศไทยจะได้ระบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานแห่งชาติ โดยกำลังจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ 3 มีกำหนดส่งทุก 4 ปี ซึ่งรายงานมีองค์ประกอบหลัก 3 เรื่อง คือ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องแสดงให้เห็นว่าการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยนั้น มีกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบด้วยระบบที่แต่ละประเทศกำหนดขึ้น รวมถึงรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน INDC (Intended Nationally Determined Contribution) นางรวีวรรณ กล่าว
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 มีทั้งสิ้น 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 65.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 21.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 3 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม 44.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 14.57 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ภาคกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม 18.23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 5.96 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ และภาคของเสียจากการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม 3.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 1.03 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2573 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 20% ใน 3 ภาคส่วนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียจากอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความถูกต้องแม่นยำเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดและดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมรู้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของตน โดยผลที่ได้จะนำมากำหนดเป้าหมายและมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งปล่อยให้เกิดผลสำเร็จในเชิงปริมาณได้อย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว นางประเสริฐสุข กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4123 หรือสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2265 6922 หรือสำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โทร.0 2141 9830