แนวโน้มอุตฯกุ้งไทยปี60สดใส
สู้โรคEMSสำเร็จผลิต3.5แสนตัน
นายกสมาคมกุ้งไทย พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เปิดภาพรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งไทยปี 2559 เริ่มฟื้นตัว แนวโน้มปี 2560ดีขึ้น หลังประสบความสำเร็จแก้ปัญหาโรคตายด่วนหรืออีเอ็มเอส(EMS) ชี้ต้องขอบคุณวิกฤติโรคอีเอ็มเอส หนุนเกษตรกรเลี้ยงกุ้งรวมตัวระดมสมองนำองค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหา ทำให้ผลผลิตกุ้งโดยรวมปี59อยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน หรือเพิ่มจากปีที่แล้ว 15% คาดส่งออกทั้งปี 200,000 ตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท ส่วนปี60 คาดผลิตได้ 350,000 ตัน สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่งออกเพิ่ม10-15% ที่250,000 ตัน
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทยและคณะกรรมการบริหารสมาคมฯประกอบด้วย ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทยและนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ,นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยและอุปนายกสมาคมกุ้งไทย,นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี,นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่,นายโสภณ เอ็งสุวรรณ นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งตะวันออกไทยและกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งของไทยในปี 2559ว่า ผลผลิตกุ้งโดยรวมมีประมาณ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 15 ที่มีผลผลิต 260,000 ตัน
ผลผลิตเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการเลี้ยงกุ้งเริ่มฟื้นตัว หลังจากประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน หรืออีเอ็มเอส(EMS) ด้วยวิธีการปรับปรุงฟาร์มและการบริหารจัดการการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณวิกฤติโรคกุ้งอีเอ็มเอสที่ทำให้เหล่าเกษตรกรรวมพลังกัน ระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้องค์ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีการพัฒนาในวันนี้กลายเป็นมืออาชีพ
ทั้งนี้ได้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงใหม่ ซึ่งยึดหลักของ “สะอาด 3 อย่าง” ได้แก่ บ่อสะอาด น้ำสะอาดและลูกกุ้งสะอาด ทำให้เกิดการพัฒนาเลี้ยงกุ้งจนได้ผลผลิตสูงถึง 10 ตันต่อไร่ เชื่อว่าเป็นอัตราการรอดชีวิตที่น่าจะสูงที่สุดในโลก จากเดิม 1-2 ตันต่อไร่ เสริมด้วยการพัฒนาบุคลากรและการปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งให้ได้ผลผลิตที่ดี เชื่อว่า ระบบนี้จะนำพาอุตสาหกรรมกุ้งไทยพัฒนาอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการส่งออกในปี 2559 ในรอบ 10 เดือน ตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม อยู่ที่ 160,935 ตัน มูลค่า 54,483 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าจะส่งออกได้ราว 300,000 ตัน มูลค่าราว 60,000 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนในปี 2560 เชื่อว่า จะเป็นปีที่ดีสำหรับเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ทั้งในด้านราคาและผลผลิตที่เชื่อว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในปี 2559 ราคากุ้งไทยซื้อขายในประเทศอยู่ที่ 120-140 บาทต่อกิโลกรัม ประคองไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัมเกษตรกรมีความสุข สำหรับผลผลิตในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี
ด้านการส่งออกปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10-15% โดยมูลค่าการส่งออกขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอัตราที่ดีต่อผู้ส่งออกอยู่ระหว่าง 37-38 บาท อย่างไรก็ตามการผลิตเน้นที่เรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าและไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปจนฉุดราคากุ้งตกต่ำ โดยตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ มีสัดส่วน 40% ญี่ปุ่น20% จีน10% และสหภาพยุโรปลดลงเหลือประมาณ 5% ในขณะที่ยอดความต้องการกุ้งโดยรวมอยู่ที่ 450,000 ล้านตัน
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้งทั่วโลกนั้น ผู้ผลิตกุ้ง 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ในปี 2559 ผลผลิตกุ้งโดยรวมทั่วโลกผลิตลดลงอยู่ที่ 2,363,000 ล้านตัน คาดในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นไม่มาก
ทั้งนี้ในจีนเลี้ยงกุ้งมากแต่เลี้ยงเพื่อบริโภคในประเทศ ไม่ได้ส่งออก ผลผลิต 2560 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากจีนยังประสบปัญหาโรคอีเอ็มเอสไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทำให้ต้องเลิกเลี้ยงไปในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะสูง แต่ด้วยประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 1,300 ล้านคน จีนจึงเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นโอกาสสำหรับไทย จีนบริโภคกุ้ง 1 กก.ต่อคนต่อปี มีความต้องการมากถึง 1,300 ตันต่อปี
สำหรับคู่แข่งในการส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ เวียดนามและอินเดีย แต่ไม่น่ากังวลนัก โดยอินเดียส่งออกอันดับ 1 แต่ปี 2560 อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก
โดยภาพรวมแล้วเชื่อว่า กุ้งยังเป็นอาหารทะเลที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนราคายังมีเสถียรภาพ ปริมาณการผลิตไม่เพิ่ม ในสหรัฐฯการเปลี่ยนผู้นำไม่มีผลต่อการบริโภค ประชาชนยังบริโภคกุ้งเหมือนเดิม
อย่างไรก็ดีผู้เลี้ยงกุ้งไทยเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยผู้ส่งออกกุ้งไทย พร้อมทั้งให้ช่วยเหลือด้านประชาสัมพันธ์มาตรฐานแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการปรับปรุงแก้ไขเรื่องแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น มาตรฐาน GLP หรือมาตรฐาน TLS 8000
ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเจรจากับประเทศจีนเรื่องภาษี VAT ซึ่งจะถูกเรียกเก็บประมาณ 13% หากเป็นการนำเข้าผ่านด่านประเทศจีนโดยตรง ที่ผ่านมาผู้นำเข้าเลี่ยงไปนำเข้าผ่านเวียดนาม ที่ได้รับสิทธิพิเศษไม่เสียภาษี VAT อีกทั้งวอนให้ช่วยเจรจากับออสเตรเลีย ให้สิทธิพิเศษในการนำเข้ากุ้งดิบกับประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกุ้งมีคุณภาพ ปราศจากเชื้อไวรัส ซึ่งทางกรมประมงสามารถที่จะเจรจาร่วมกับ AQIS ของออสเตรเลียในการสร้างมาตรฐานในการนำเข้ากุ้งดิบไปออสเตรเลีย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่ระบบและสามารถส่งกุ้งดิบไปยังออสเตรเลียได้