นาโนเทค สวทช.หนุนนวัตกรรม
เพื่อธุรกิจสิ่งทอไทยสู่สากล
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. จัดสัมมนา “NANOVATION นวัตกรรมเพื่อธุรกิจสิ่งทอไทย” ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ผ้าเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เสื้อผ้า เครื่องประดับ และสิ่งทอพื้นบ้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านการตลาดและเป็นโอกาสผลักดันนวัตกรรมสู่ธุรกิจสิ่งทอไทยให้เติบโตในระดับชาติและนานาชาติได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเกิดความร่วมมือหรือใช้บริการเครือข่ายโรงงานต้นแบบสิ่งทอขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้อีกทางหนึ่ง
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค จัดงานสัมมนา “NANOVATION นวัตกรรมเพื่อธุรกิจสิ่งทอ” ขึ้น เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มกับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้สามารถตอบรับกับการแข่งขันในเวทีโลกได้ พร้อมเป็นเวทีสร้างพันธมิตรและเครือข่ายร่วมทางการวิจัยที่มีความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผ่านความร่วมมือในด้านการวิจัยพัฒนาและร่วมวิจัย การอนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และการบริการเคลือบโดยโรงงานต้นแบบสิ่งทอ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม และบริษัทรายใหญ่ รวมทั้งเพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมสูงสุด รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์สิ่งทอของประเทศ”
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า “หน่วยงานพันธมิตรร่วมทางวิจัยที่มีความสนใจในการนำนวัตกรรรมไปต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสร้างความมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนผ่านกลไกในหลายส่วน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมด้านการเงินและภาษี การส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับธุรกิจ Startup / SMEs การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน การสนับสนุนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ การมีคูปองนวัตกรรม
การขอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ด้วยมูลค่า 30,000 บาท หรือหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสามารถนำยอดการลงทุนขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300% ตลอดจนต่อยอดผลงานวิจัยจนสามารถผลิตเป็นสินค้ายังสามารถขอขึ้นบัญชีนวัตกรรม เพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงสินค้าต่อหน่วยงานภาครัฐได้ด้วย นอกจากนี้ กลไกสนับสนุนอาจจะเป็นในรูปความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีลักษณะการรับจ้างวิจัย/ร่วมวิจัย การอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ITAP และการวิเคราะห์ทดสอบ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทุกรูปแบบดังกล่าวล้วนเป็นกลไกที่ภาครัฐโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สวทช. ช่วยผลักดันให้เอกชนนำนวัตกรรมจากผลงานวิจัยต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร.วรล อินทะสันตา หัวหน้าห้องปฏิบัติการสิ่งทอนาโน หน่วยวิจัยวัสดุนาโนเฉพาะทางและนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวเสริมว่า “เป็นที่ทราบกันดีธุรกิจสิ่งทอมีการแข่งขันสูงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยในด้านคุณภาพ นาโนเทคโนโลยีถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ ด้วยการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาผนวกกับกระบวนการเคลือบ โดยสิ่งทอที่ผ่านการเคลือบเพียงครั้งเดียวจะสามารถเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานได้มากขึ้น และประยุกต์ใช้ได้กับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นด้วย
รวมทั้งยังมีงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอีกหลายประการ เช่น สิ่งทอนาโนเพื่อสมบัติการป้องกันยุง การย้อมธรรมชาติบนเส้นใยให้มีสมบัติต้านรังสียูวี สะท้อนน้ำ ต้านแบคทีเรีย และมีกลิ่นหอม และการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติให้มีสมบัติในการย้อมติดสีธรรมชาติและทนทานต่อรังสียูวี เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วนของนวัตกรรมด้านสิ่งทอในอนาคต สิ่งทอด้านการแพทย์ สิ่งทอที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ และสิ่งทอที่สามารถนำไฟฟ้าตลอดจนเชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้าได้ มีแนวโน้มจะเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น หากผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสและช่องทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวโน้มความต้องการโลกดังกล่าว จะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยก้าวไกลทัดเทียมกับต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน”