พาณิชย์ผนึกธุรกิจค้าส่ง-ปลีกไทย
พัฒนาธุรกิจค้าส่งฯเข้มแข็ง-ยั่งยืน
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย วางแนวทางพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมเป็นเครื่องมือดูแลค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ปัจจุบันพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบได้ทั้งสิ้น 114 ร้านค้า 545 สาขาใน 65 จังหวัด สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ร้านค้าปลีกโชวห่วยในเครือข่ายได้ 19,200 ร้าน ปี 60 ตั้งเป้าขยายร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบอีกไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้า ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงให้ร้านค้าปลีกโชวห่วยได้เพิ่มอีก 6,000 ร้านค้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2560ได้เป็นประธานการประชุมหารือ “แนวทางการส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” ร่วมกับ นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 10 ราย อาทิ บจ. ส.สรรพกิจค้าส่ง (กรุงเทพฯ) บจ.สามัคยานุสรณ์ กรุ๊ป (นนทบุรี) หจก.ไชยแสงดีพาร์ทเม้นท์สโตร์(จ.สิงห์บุรี) และ บจ.กรชัยสหพัฒน (จ.ราชบุรี)”
ประเด็นการประชุมหารือหลักๆ คือ การระดมความคิดเห็นความต้องการของผู้ประกอบการ ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อแนวทางการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทยด้วย ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความมั่นคง
ปัจจุบัน “ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ” มีจำนวนทั้งสิ้น 114 ร้านค้า 545 สาขา ครอบคลุม 65 จังหวัด ซึ่งพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยที่เป็นเครือข่ายกันอยู่ 19,200 ร้าน และในปี 2560 กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะขยายร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้า ซึ่งสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยเครือข่ายเพิ่มเติมได้อีก 6,000 ร้านค้า ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน
ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง มีอัตราการจ้างงานสูง คิดเป็นร้อยละ 27.5 หรือ ประมาณ 2.9 ล้านคน ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคบริการ และมีมูลค่าซื้อขายรวม 1.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 ของ GDP ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจากภาคบริการ (ร้อยละ 32.6) และ ภาคการผลิต (ร้อยละ 27.7)